กู่ฉิน

กู่ฉิน

 

มาทำความรู้จัก “กู่ฉิน”มรดกโลกทางวัฒนธรรมให้มากขึ้น

เหวิน เหวิน ณ สวนชั่งชุน
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
“กู่ฉิน” มรดกโลกทางวัฒนธรรม
          กู่ฉินเป็นเครื่องดนตรีโบราณประเภทเครื่องสายของจีน เมื่อเอ่ยถึงวัฒนธรรมด้านดนตรีจีนโบราณนั้นจะขาดซึ่งกู่ฉินเสียมิได้ ในสมัยโบราณนั้นเรียกแต่เพียงว่า “ฉิน (พิณ)” แต่คนปัจจุบันเรียกว่า “กู่ฉิน (พิณโบราณ)” หรือ “พิณ ๗ สาย” ๔ สิ่งที่วิญญูชนจีนต้องศึกษาคือ “พิณ หมากรุก หนังสือ ภาพวาด” พิณในที่นี้ ก็คือ กู่ฉินนั่นเอง

           ใครเป็นผู้คิดประดิษฐ์กู่ฉินนั้นไม่ปรากฎแน่ชัด แต่มีตำนานเล่าสืบต่อกันมามากมาย เช่น เสินหนง ฝูซี เหยา สุ่น ซึ่งเป็นกษัตริย์โบราณของจีนเป็นผู้ประดิษฐ์ แม้จะไม่มีหลักฐานพิสูจน์ได้แน่ชัด แต่เป็นที่เชื่อถือได้คือ กู่ฉินมีมาแต่ครั้งโบราณกาลแล้ว ใน “ซือจิง” (คัมภีร์บทกลอน) ซึ่งเป็นคัมภีร์บทกลอนเล่มแรกของจีนที่มีอายุกว่า ๒,๕๐๐ ปีได้มีบันทึกเกี่ยวกับกู่ฉิน ที่มณฑลหูเป่ยขุดพบกู่ฉิน ๑๐ สาย อายุกว่า ๒,๔๐๐ ปี ที่มณฑลหูหนานก็มีการขุดพบกู่ฉิน ๗ สาย อายุกว่า ๑,๙๐๐ ปี

           นับย้อนไปตั้งแต่ยุคชุนชิว (ยุคฤดูใบไม้ผลิฤดูใบไม้ร่วง ๗๗๐ ปีก่อนค.ศ. – ๔๗๖ ปีก่อนค.ศ.) กู่ฉินก็มีความสำคัญในสังคมและในการดนตรีของยุคนั้นแล้ว กู่ฉินเป็นสิ่งที่ปัญญาชนต้องศึกษา ที่นั่งของวิญญูชนนั้นด้านซ้ายวางกู่ฉิน ด้านขวาวางหนังสือ นักปราชญ์และกวีจีนมากมาย เช่น ขงจื่อ ซือหม่าเซี่ยงหญู โอวหยางซิว เถาเฉียน (เถาหยวนหมิง) ซูซื่อ (ซูตงพอ) ต่างมีความสามารถในการบรรเลงฉินทั้งสิ้น
           เครื่องดนตรีที่ขงเบ้งใช้บรรเลงบนกำแพงเพื่อลวงสุมาอี้ก็คือ เครื่องดนตรีชนิดนี้ ไม่ใช่ “ขิม” หรือ “กระจับปี่” อย่างที่คนไทยเข้าใจกัน

           นับถึงปัจจุบัน องค์การยูเนสโกได้ประกาศมรดกโลกทางวัฒนธรรมไว้ ๓ ชนิดด้วยกัน อันได้แก่ ละครโนะของญี่ปุ่น ละครร้องคุนฉวี่ของจีนและ “กู่ฉิน” ซึ่งได้รับพิจารณา เมื่อวันที่ ๗ มกราคม ๒๐๐๓ เหตุที่กู่ฉินได้รับพิจารณานั้น ไม่ใช่เพียงเพราะมีประวัติอันยาวนานเท่านั้น แต่เพราะ “กู่ฉิน” นั้นอยู่คู่กับวัฒนธรรมจีนมายาวนาน และจนถึงปัจจุบันก็ยังมีผู้ศึกษากู่ฉินมาอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีจำนวนน้อยมากก็ตาม

ลักษณะของกู่ฉิน
           ในยุคก่อนราชวงศ์ฮั่น (206 ปีก่อนค.ศ.) นั้น กู่ฉินมีรูปทรงไม่แน่นอน กู่ฉิน 10 สายที่หูเป่ย กู่ฉิน 7 สายที่หูหนานและกู่ฉินในปัจจุบันมีรูปทรงที่คล้ายคลึงกันมาก รูปทรงของกู่ฉินมีลักษณะที่แน่นอนอย่างในปัจจุบันนี้เป็นรูปแบบที่ตกทอดมาตั้งแต่สมัยฮั่น (206 ปีก่อนค.ศ. - ค.ศ.220)

           การทำกู่ฉินตั้งแต่ครั้งโบราณจนกระทั่งถึงปัจจุบัน มีความพิถีพิถันในการเลือกวัสดุและการประกอบเป็นอย่างมาก แสดงให้เห็นว่าคนโบราณนั้นให้ความสำคัญ และให้คุณค่าแก่กู่ฉินเป็นอย่างยิ่ง คนสมัยถังกล่าวถึงการทำกู่ฉินว่า “เลือกวัสดุที่ดี มีเจตนาลึกซึ้ง อายุห้าร้อยปี เสียงไม่มีเปลี่ยน” ปลายปี 2003 ได้มีการนำกู่ฉินสมัยราชวงศ์ถังชื่อ “ต้าเซิ่งอี๋อิน” ซึ่งมีอายุไม่น้อยกว่า 1,100 ปีออกประมูล ซึ่งกู่ฉินอันล้ำค่านี้ยังสามารถบรรเลงเพลงได้อย่างไพเราะโดยที่เสียงไม่เปลี่ยนแปลง

           คนโบราณคิดค้นกู่ฉินโดยการนำลักษณะของมนุษย์กับหงส์มาผสมกัน คือมี หัว ตา คอ ไหล่ เอว หาง เท้านอกจากนี้ยังได้นำฟ้า ดินและสรรพสิ่งมาประสานลงบนกู่ฉิน วิธีทำกู่ฉินเป็นการนำไม้ 2 ชิ้นมาประกอบกัน ไม้ชิ้นบนจะมีลักษณะโค้งเป็นสัญลักษณ์ของ “ฟ้าหรือหยาง” ไม้ชิ้นล่างมีลักษณะเรียบแบนเป็นสัญลักษณ์ของ “แผ่นดินหรือ หยิน” ไม้ชิ้นล่างจะมีช่องเสียง 2 ช่อง ช่องใหญ่เรียกว่า “สระมังกร” ช่องเล็กเรียกว่า “สระหงส์” กู่ฉินหัวจะกว้างหางจะแคบ แบ่งออกเป็น 4 ส่วน เปรียบดัง “ฤดูกาลทั้งสี่ของปี” กู่ฉินมี 13 ฮุย (ตำแหน่งสำหรับกดสาย) เปรียบดัง “เดือนทั้ง 12 กับเดือนอธิกสุรทิน”

           ความยาวของกู่ฉินคือ 3 ฉือ 6 ชุ่น 5 เฟิน (ประมาณ 125 ซ.ม.) เปรียบดัง “365 วันในรอบปี” กว้าง 6 ชุ่น (ประมาณ 20 ซ.ม.) เปรียบดัง “ทิศทั้งหก” หนา 2 ชุ่น (ประมาณ 6 ซ.ม.) เปรียบดัง “หยินและหยาง”

           เนื้อไม้ภายนอกของกู่ฉินจะถูกทาด้วยแลคเกอร์ดิบ มีหลายสี แต่ส่วนใหญ่จะเป็นสีดำ กู่ฉินมีหลายแบบ เช่น แบบจ้งหนี แบบฝูซี แบบเสินหนง แบบเหลียนจู แบบเจียวเยี่ย เป็นต้น แต่แบบที่มีมากที่สุดคือแบบจ้งหนี กู่ฉินที่มีอายุเก่าแก่ เนื้อไม้จะมีการแตกลาย แต่ละลายก็มีชื่อเรียกแตกต่างกันไป เช่น ลายดอกท้อ ลายขนวัว ลายลอยมังกร ลายท้องงู ลายน้ำไหล เป็นต้น

แบบจ้งหนี (ขงจื๊อ)



แบบฝูซี



แบบเสินหนง



แบบเหลียนจู



แบบเจียวเยี่ย (ใบตอง)
           กู่ฉินมี 7 สาย สายที่อยู่ด้านนอกจะมีเสียงต่ำ และสายด้านในเสียงจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ในอดีตสายของกู่ฉินทำจากเส้นไหมม้วนให้เป็นสาย แม้เสียงจะเบา แต่บริสุทธิ์และหนักแน่น ปัจจุบันเปลี่ยนมาใช้สายไนล่อนแทน เพราะทนทานและรักษาได้ง่าย

เสียงและบทเพลงของกู่ฉิน
           เสียงของกู่ฉินนั้นไม่ดัง แต่แฝงไว้ซึ่งอารมณ์และความรู้สึก จึงเป็นที่ชื่นชอบของปัญญาชนจีนตั้งแต่อดีต เสียงของกู่ฉินนั้นมีลักษณะพิเศษ แบ่งได้เป็น 3 แบบ คือ “ส่านอิน” “ฝ่านอิน” “อ้านอิน” เป็นสัญลักษณ์ของฟ้า ดินและคน วิธีการใช้นิ้วของกู่ฉินค่อนข้างซับซ้อน โดยต้องใช้นิ้วมือทั้งซ้ายและขวาบรรเลงประสานกัน

           บทเพลงของกู่ฉินต่างก็มีเอกลักษณ์เฉพาะของตน บทเพลงกู่ฉินที่ตกทอดมาถึงปัจจุบันนั้นมีมากกว่า 3,000 บท โดยจะมีเนื้อหาและอารมณ์ที่แตกต่างกัน เช่น แสดงถึงความรัก ความสนุกสนาน การลาจาก ความปวดร้าว การบรรยายบทกวี ภาพวาดหรือวิวทิวทัศน์ เป็นต้น

           ความยาวของเพลงนั้น มีตั้งแต่สั้นเพียง 1 -2 นาที ไปถึงยาวหลายสิบนาที ในการบรรเลงกู่ฉินอาจจะบรรเลงเดี่ยว บรรเลงคู่ (ส่วนใหญ่บรรเลงคู่กับขลุ่ย) หรือบรรเลงเป็นวงก็ได้ นอกจากนี้บทเพลงของกู่ฉินบางบทยังมีเนื้อร้องประกอบอีกด้วย

           โน้ตเพลงของกู่ฉินนั้นมีลักษณะเฉพาะ ก่อนสมัยราชวงศ์ถังโน้ตเพลงกู่ฉินจะถูกบันทึกด้วยอักษรจีน เรียกว่า “เหวินจื้อผู่” ในปัจจุบันค้นพบโน้ตเพลงแบบ “เหวินจื้อผู่” เพียงเพลงเดียวซึ่งเป็นโน้ตเพลงสมัยราชวงศ์ถัง อายุกว่าพันปี ปัจจุบันถูกเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑ์กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อเข้าถึงยุคกลางของราชวงศ์ถัง เฉาโหยวได้คิดค้นโน้ตเพลงกู่ฉินแบบใหม่ โดยการลดทอนขีดของอักษรจีน แล้วนำมาประกอบกันเป็นโน้ตเพลง ที่เรียกว่า “เจี่ยนจื้อผู่” ซึ่งโน้ตเพลงแบบนี้ถูกใช้มาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน

Date

27 เมษายน 2564

Tags

พิณ หมากรุก ลายสือศิลป์ ภาพวาด