พิณ หมากรุก หนังสือ ภาพวาด

พิณ หมากรุก หนังสือ ภาพวาด

 


พิณ หมากรุก หนังสือ ภาพวาด

เรืองรอง    รุ่งรัศมี

      

        หากดูภาพยนตร์จีนกำลังภายในบ่อยๆ ท่านจะพบว่าดนตรีประกอบในภาพยนตร์จีนกำลังภายในบางเรื่องนั้นไพเราะ และสามารถสื่อถึงอารมณ์หลากหลาย ไม่เพียงแต่ดนตรีประกอบ บ่อยครั้งที่เราจะเห็นตัวละครต่างๆ เล่นดนตรีสื่ออารมณ์ของตนอยู่ในหลายฉาก

        ถ้าดูหนังจีนมากๆ ท่านจะพบว่าตัวละครในหนังจีนที่ใช้เหตุการณ์ในยุคโบราณนั้นจะสัมพันธ์กันทั้ง พิณ หมากรุก หนังสือและภาพวาด

       นั่นเพราะนี่คือคติจีนอันลงรากลึกมาแต่โบราณ ว่าบัณฑิตที่แท้นั้นต้องศึกษาในวิทยาการทั้ง 4 สาขานี้ให้มีความรู้ซึ้ง

       ไม่ว่าจะเป็นตัวละครอย่าง “ อึ้งเอี๊ยะซือ ” มารบูรพาในเรื่อง “ มังกรหยก ” อันเลี่ยงลือของ “ กิมย้ง ” หรือตัวละครหญิงอย่างแม่นาง “ หลินไต้อวี้ ” ในเรื่อง “ ความฝันในหอแดง ” อันเป็นวรรณคดีสมัยปลายราชวงศ์ชิงของ “ เฉาเสวี่ยฉิน ” ไม่ว่าจะเป็นจอมยุทธ์ผู้เหี้ยมหาญหรือดรุณีน้อยผู้อ่อนโยน ไม่ว่าจะเป็นบัณฑิตผู้คงแก่เรียน หรือผู้เฒ่าชาวเรือผู้งำประกาย พวกเขาต่างฝึกฝนเรียนรู้และชื่นชมในศาสตร์ทั้ง 4 สาขานี้อย่างละเอียดอ่อน

        สำหรับจอมยุทธ์นั้น คงเพิ่มฝีมือเพลงยุทธ์ และศิลปะการต่อสู้เข้าไปเป็นศาสตร์อีกศาสตร์หนึ่งที่ต้องเรียนรู้ฝึกฝน แต่จอมยุทธ์จะไม่ถูกยกย่องให้เป็นจอมยุทธ์ที่แท้อย่างจริงใจ หากว่าเขาขาดจิตใจอันเปี่ยมหลักการในวิถีแห่งจอมยุทธ์ และเขาจะยิ่งดูต่ำต้อยด้อยค่าลงไปอีกหากเขาไม่ประสีประสากับความประณีตละเอียดอ่อนแห่งพิณ หมากรุก หนังสือ และภาพวาด

        นี่คือพื้นฐานปรัชญาการใช้ชีวิตของจีนตั้งแต่ยุคโบราณ นี่คือพื้นฐานวิถีชีวิตแห่งบัณฑิต และคือพื้นฐานแห่งมนุษย์ที่แท้ มนุษย์ที่สมบูรณ์

        สำหรับจีนโบราณ มนุษย์ไม่เพียงจะเกิดมาเป็นคนที่มีชีวิต หากแต่เขายังต้องเพียรเรียนรู้ฝึกฝนตนสู่ความเป็นบัณฑิต เขาควรดำเนินชีวิตไปสู่วิถีแห่งมนุษย์ที่แท้ มนุษย์ที่สมบูรณ์

        เพราะว่าคนเราไม่เพียงแต่จะเป็นอุปกรณ์ในการทำการผลิต ไม่เพียงแต่ควรจะรู้จักชั่วดี-ถูก-ควร ไม่เพียงจะรู้จักทำมาหากิน หากแต่เขาควรรู้จักดำเนินชีวิตสู่ความบริสุทธิ์ดีงาม

        พิณ หมากรุก หนังสือ ภาพวาด ศาสตร์ทั้ง 4 สาขานี้ที่จีนให้ความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นสิ่งที่ช่วยให้คนเต็มคน หากคนเราเป็นคนไม่เต็มคน จะเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ก้าวสู่วิถีแห่งมนุษย์ที่แท้ได้อย่างไร

        พิณ ในที่นี้ครอบคลุมถึงความหมายในวงกว้างคือศาสตร์แห่งคีตการ มิได้หมายถึงเพียงเครื่องดนตรีชนิดใดชนิดหนึ่ง และมิได้มีความหมายว่าเป็นวิชาความรู้สำหรับคนเล่นดนตรีเท่านั้น พูดให้ครอบคลุมก็คือสิ่งทั้งหลายทั้งมวลอันดนตรีข้องเกี่ยวกับชีวิต ทั้งในฐานะผู้บรรเลง ผู้เสพและผู้ผลิตสิ่งอันเกี่ยวเนื่องกับคีตการ ล้วนคือศาสตร์และศิลป์แห่งพิณ

        พิณของจีนมีอยู่หลายแบบ ใช้ศัพท์รวมที่อ่านด้วยสำเนียงแมนดารินว่า “ ฉิน ” โดยทั่วไปเมื่อเห็นคำว่าฉินเราจะนึกไปถึงคำว่า “ กู่ฉิน ” อันเป็นพิณโบราณชนิด 7 สายที่เรามักเห็นกันในหนังสือกำลังภายใน

        กู่ฉินเป็นเครื่องดนตรีที่ใช้เสียงทุ้มต่ำ ต่างกับ “ กู่เจิง ” (แต้จิ๋วออกเสียงว่า “ โกวเจ็ง ” ) ซึ่งให้เสียงใสกรุ๋งกริ๋ง หากเปรียบเสียงของกู่เจิงเป็นเสียงของดรุณีน้อยที่สดใสพริ้งพราย เสียงของกู่ฉินก็จะเป็นเสียงของผู้ที่ผ่านชีวิตมามากกว่า ฟังดูขรึม สงบ สง่า และบางเสียงซ่อนความขื่นร้าวอยู่ลึกๆ เป็นเสียงของผู้ที่ไม่ตีโพยตีพาย ผ่านการฝึกตนมาดี

        แต่ฉินหรือพิณของจีนไม่ได้มีเฉพาะกู่ฉินหรือกู่เจิงเท่านั้น จีนเรียนเครื่องดนตรีประเภทเครื่องสายรวมๆ กันว่าฉิน (คิ้มในสำเนียงแต้จิ๋ว)

       ทั้งกู่ฉินและกู่เจิง เทียบกับเครื่องสายของดนตรีไทยน่าจะจัดอยู่ในตระกูล “ จะเข้ ” นอกจากกู่ฉินและกู่เจิงแล้วจีนยังมี “ หยางฉิน ” (ขิม) “ เยว่ฉิน ” (พิณพระจันทร์หรือพิณวงเดือน) ซอประเภทต่างๆ ก็เรียกฉิน เช่น ซอ2สาย หรือ เอ้อร์หู บางครั้งก็เรียกหูฉิน ไวโอลินเรียกว่า "เสี่ยวถีฉิน" เชลโล เรียกว่า "ต้าถีฉิน" กระทั่งเปียโนจีนก็จัดเป็นพิณประเภทหนึ่ง เขาเรียกเปียโนว่ากังฉิน คำว่า “ กังฉิน ” เพียงบังเอิญไปพ้องเสียงกับคำว่า กังฉิน ที่แปลว่าขุนนางเลวที่ไทยใช้ศัพท์ทับเสียงสำเนียงแต้จิ๋วแบบเพี้ยนนิดหน่อย ความจริงแล้วทั้งสองคำนี้ใช้อักษรคนละตัวกันและอ่านออกเสียงสำเนียงจีนกลางและแต้จิ๋วต่างกันไกล

       กู่ฉินนั้นไม่ค่อยจะมีโอกาสได้ชมการแสดงสดในเมืองไทย ผิดกับกู่เจิงซึ่งได้รับความสนใจฟังและฝึกเล่นในเมืองไทยพอสมควร อาจเป็นเพราะวงดนตรีไทยเดิมพอจะคุ้นเคยกับ
กู่เจิงอยู่บ้าง และน้ำเสียงของกู่เจิงก็ฟังดูฉูดฉาดมีสีสันกว่ากู่ฉิน ซึ่งสำหรับคนที่ไม่เคยฟังอาจรู้สึกแปร่งหู หรืออืดอาดน่าเบื่อ

       แต่หากมีสมาธิและจิตใจว่างพอ บางทีท่านอาจจะต้องมนต์สะกดของเครื่องดนตรีโบราณที่มีเสียงทุ้มลึกนี้ก็ได้

       คีตการนั้นสามารถกล่อมเกลาอารมณ์และจิตวิญญาณมนุษย์สู่ความละเอียดอ่อนลึกซึ้ง การไม่เป็นคนหยาบคือหนทางหนึ่งในวิถีสู่ความสำคัญที่จะกล่อมเกลาชีวิต

       แล้วหมากรุกมีคุณค่าอย่างไร จีนจึงจัดเป็นหนึ่งใน 4 ของศาสตร์สำคัญที่จะกล่อมเกลาชีวิต

       หมากรุกนั้นสอนการมองอะไรให้กว้างและรอบคอบ สอนการไตร่ตรองและการควบคุมอารมณ์ตนเอง หมากรุกสอนให้เป็นสุภาพบุรุษที่มีมารยาทวางหมากรุกแล้วไม่ขอเดินใหม่นั้นคือต้องคิดไตร่ตรองให้ดีก่อนกระทำสิ่งใดๆ มองอะไรไม่เฉพาะก้าวที่เห็นอยู่เฉพาะหน้า ต้องมองหมากทั้งกระดานเมื่อตัดสินใจไปแล้ว แพ้ชนะก็ยอมรับได้เยี่ยงสุภาพบุรุษที่มีน้ำใจ ชนะก็ไม่เยาะเย้ยถากถาง พ่ายแพ้ก็ไม่ตีโพยตีพายโวยวาย

       คนเล่นหมากรุกที่ดีจะแลดูสง่ามั่นคง ไม่เป็นกุ๊ยหรือคนใจแคบที่ไร้รสนิยม ไม่เป็นคนมักเอาแต่ได้ที่นำพาชีวิตไปสู่การเป็นที่รังเกียจของผู้คน

      หมากรุกของจีนนั้นมีหลายประเภทเหมือนกัน ถือกันว่าหมากรุกที่ละเอียดอ่อนลึกซึ้งนั้นคือศาสตร์แห่งพิชัยสงครามชั้นสูง

      หากปรับมามองอย่างสมัยใหม่ จะจัดเอาหมากรุกของชาติต่างๆ รวมถึงหมากฮอสเข้ามาไว้รวมกันในศาสตร์แขนงนี้ก็น่าจะได้ เพราะต่างก็มีจุดมุ่งหมายทางปรัชญาคล้ายกัน แต่พวกเกมส์กดประเภทยิงกันหูดับตับไหม้คงไม่อาจรวมไว้ในศาสตร์แขนงนี้ได้ เพราะมีแต่สิ่งที่ทำให้ชีวิตร้อนและหยาบกระด้างขึ้น การต้องกดปุ่มกดอะไรเร็วๆ เหมือนการทำอะไรอย่างลวกๆ และผิวเผิน ซึ่งนั่นไม่ใช่วิถีแห่งบัณฑิตแน่นอน

       หนังสือหรือคัมภีร์ต่างๆ คือแหล่งรวมความรู้และศิลปะวิทยาการคนเราหากโง่เขลาไร้ภูมิปัญญาแล้วยังเกียจคร้านต่อการเรียนรู้ก็คงยากจะพัฒนาตัวเองไปสู่สิ่งที่ดีกว่าได้ หนังสือตำรับตำราตลอดจนถึงคัมภีร์ต่างๆ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งในวิถีชีวิตของบัณฑิต

        หากบ้านของท่านเป็นคฤหาสต์หรูหรา มีเครื่องเสียงชั้นดี มีคอมพิวเตอร์ชั้นเยี่ยม มีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ มากมาย แต่ไม่มีตู้หนังสือสักตู้ ไม่มีหนังสือต่างๆ สักเล่ม ท่านคงจะทำให้ผู้อื่นยอมรับอย่างจริงใจได้ยาก เพราะไม่ว่าจะซ่อนอย่างมิดชิดและแนบเนียนเพียงไร ระดับความคิดและระดับภูมิปัญญาของท่านคงสะท้อนออกมาในโอกาสใดโอกาสหนึ่งที่ท่านไม่ทันรู้ตัว

       สมองที่กลวงนั้นไม่มีวิธีใดจะทำให้เต็มได้ดีกว่าการอ่าน และหากท่านสามารถเข้าถึงส่วนละเอียดอ่อนของการสอน ท่านก็จะพบความสุขในขณะอ่านหนังสือและมันยังจะช่วยให้ชีวิตในด้านอื่นๆ ของท่านมีความสุขได้มากขึ้นด้วย

       นอกจากมนุษย์ควรจะเข้าถึงความละเอียดอ่อนของคีตการ ควรจะมีความสุขุมรอบคอบและเป็นสุภาพบุรุษในชีวิต ควรจะเป็นผู้ที่มีความรู้มีภูมิปัญญาอยู่กับตัว เขาควรจะรู้จักเข้าถึงความงาม และรู้สัมผัสในสุนทรียรส

       จีนให้ความสำคัญกับภาพวาดด้วยถือว่าเป็นการฝึกฝนในการชมภาพวาดและการฝึกฝนการวาดภาพด้วยตนเอง เป็นหนทางเข้าถึงความงาม ทำให้รับรู้สัมผัสในสุนทรียรส

        การสามารถเข้าถึงความละเอียดอ่อนของเสียงผ่านทางดนตรี และการสามารถเข้าถึงความงดงามของจังหวะลีลาของเส้นและสี ล้วนแต่กล่อมเกลาจิตวิญญาณของมนุษย์ให้อ่อนโยนไม่หยาบกระด้าง การเป็นคนไม่หยาบกระด้างนั้นทำให้สามารถสัมผัสลึกซึ้งถึงความรู้สึกต่างๆ ของผู้อื่น ทำให้รู้จักรัก รู้จักเมตตา เห็นใจ นั่นคือทำให้จิตวิญญาณไม่ตื้นเขินคับแคบ

        เมื่อฝึกฝนตนในศาสตร์แห่ง พิณ หมากรุก หนังสือ และภาพวาด ก็คือการฝึกฝนตนในวิถีแห่งมนุษย์ที่แท้ คือการดำเนินชีวิตอย่างมนุษย์ที่สมบูรณ์ถึงที่สุดแล้วนี่คือวิถีแห่งการนำพาโลกไปสู่ความสงบสุขงดงามและรื่นรมย์

 

Date

27 เมษายน 2564

Tags

พิณ หมากรุก ลายสือศิลป์ ภาพวาด