กู่ฉิน ในสายธารแห่งอารยธรรมมังกร

กู่ฉิน ในสายธารแห่งอารยธรรมมังกร

 


กู่ฉิน ในสายธารแห่งอารยธรรมมังกร

 

      


กู่ฉิน ในสายธารแห่งอารยธรรมมังกร
จินตนา ธันวานิวัฒน์
คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

กู่ฉิน เครื่องดนตรีโบราณที่มีประวัติความเป็นมายาวนานกว่า ๓,๐๐๐ ปี

       เครื่องดนตรีชนิดนี้เป็นเครื่องดนตรีที่ขงเบ้งใช้บรรเลงบนกำแพงเมืองลวงสุมาอี้จนสำเร็จมาแล้ว แต่ในประเทศไทยยังมีคนเข้าใจผิดคิดว่าเครื่องดนตรีที่ขงเบ้งเล่นลวงข้าศึกนั้น คือ ขิม (เครื่องสายใช้ตี) ดังมีเพลงไทย เพลงจีนขิมเล็กสองชั้น มีเนื้อร้องดังนี้

       โยธาฮาเฮบ้างเสสรวล
       ขับครวญตามภาษาอัชฌาสัย
       เป็นลำนำทำนองใน
       เรื่องขงเบ้งเมื่อใช้อุบายกล
       ขึ้นไปนั่งบนกำแพงแกล้งตีขิม
       พยักยิ้มให้ข้าศึกนึกฉงน
       ไพรีมิได้แจ้งแห่งยุบล
       ก็เลิกทัพกลับพลรีบหนีไป

      ผู้เขียนได้ทำการวิจัยเรื่อง ขงเบ้งดีดกระจับปี่ ดีดพิณหรือตีขิมกันแน่ (ตีพิมพ์ในวารสารอักษรศาสตร์ ปีที่ ๒๙ ฉบับที่ ๒ กรกฎาคม – ธันวาคม ๒๕๔๓ )ผลงานวิจัยพบว่าในหนังสือสามก๊กสำนวนไทยฉบับต่างๆ รวมทั้งบทความต่างๆ ที่กล่าวถึงเหตุการณ์ตอนนี้ได้กล่าวถึง เครื่องดนตรีที่ขงเบ้งใช้บรรเลงไว้ ๓ ชนิด คือ กระจับปี่ พิณ และ ขิม การวิจัยนี้ทำให้ทราบว่าเครื่องดนตรีที่ขงเบ้งใช้บรรเลงที่ถูกต้องคือ ฉิน หรือ กู่ฉิน หรืออาจแปลเป็นภาษาไทยว่าพิณ ในที่นี้จะขอใช้ทับศัพท์โดยการถอดเสียงคำนี้ว่า กู่ฉิน และบทความนี้จะขอแนะนำกู่ฉินในฐานะเครื่องดนตรีชนิดหนึ่ง ความเชื่อและตำนานเกี่ยวกับกู่ฉินในอารยธรรมจีนโบราณ ตลอดจนชี้ให้เห็นถึงบทบาทของกู่ฉินในสำนวน-สุภาษิตจีน

ชื่อและที่มาของกู่ฉิน

     กู่ฉิน มาจากภาษาจีนคำว่า       ในสมัยโบราณใช้คำว่าฉินคำเดียวเป็นคำโดดตามลักษณะของคำในภาษาจีนโบราณปัจจุบันเพิ่มคำว่ากู่ เข้าไป (คำว่ากู่ แปลว่า เก่า โบราณ )เป็น กู่ฉิน แปลว่า ฉินโบราณ การที่ต้องเพิ่มคำว่า กู่ เข้าไปเพราะในภาษาจีนปัจจุบันคำว่า ฉิน มีความหมายสองอย่างคือ

     ความหมายแรก หมายถึงเครื่องดนตรีประเภทเครื่องสายใช้ดีดมี ๗สาย เป็น วิสามานยนาม หรือที่ในปัจจุบันเรียกว่ากู่ฉิน ส่วน ความหมายที่สอง หมายถึงเครื่องดนตรีทั่วไปสามารถผสมกับคำอื่นๆ เช่น ต่าฉิน แปลว่าเครื่องดนตรีที่บรรเลงโดยการใช้ไม้ตี หรือหมายถึง ขิม (ขิม เครื่องดนตรีที่นำมาบรรเลงในวงดนตรีไทย เดิมเป็นเครื่องดนตรีแถบเปอร์เซีย เข้ามาในประเทศจีนราวสมัยหมิง ชิง ในภาษาจีนมี ชื่อเรียกว่าหลายอย่าง) ในภาษาไทยหรือ โข่วฉิน แปลว่าเครื่องดนตรีที่บรรเลงโดยใช้ปากเป่า หมายถึงหีบเพลงปาก ในภาษาอังกฤษเรียกว่า Mouth Organ หรือ Hamonica

     การที่ต้องเพิ่มคำว่ากู่เข้าไปเพราะในภาษาพูด หรือในการสนทนา คำผสมที่มีคำว่าฉินผสมอยู่ด้วย เช่น หยางฉิน (ขิม ที่บรรเลงโดยการใช้ไม้ตี พบเห็นทั่วไปในประเทศไทย) กังฉิน (เปียโน) อาจเรียกย่อๆ ว่า ฉิน ได้ ซึ่งอาจทำให้สับสนและเข้าใจผิดได้ กู่ฉินยังอาจเรียกว่า ชีเสียนฉิน แปลว่า ฉิน ๗ สาย

     กู่ฉินนับว่าเป็นยอดในบรรดาเครื่องดนตรีจีนทั้งหมดนอกจากจะมีประวัติความเป็นมายาวนาน และยังเป็นเครื่องดนตรีที่นิยมเล่นกันในหมู่ปัญญาชนคนที่มีความรู้ หรือในภาษาจีนเรียกว่า แปลว่าเครื่องดนตรีของคนรู้หนังสือ คนมีการศึกษา นักปราชญ์ ทหารเอก หรือกวีเอกของจีน เช่น ขงจื๊อ ขงเบ้ง เถายวนหมิง หลีป๋าย หวังเหวย บุคคลเหล่านี้ล้วนชอบดีดกู่ฉินและชอบฟังเพลงกู่ฉิน

รูปร่างลักษณะของกู่ฉิน

     กู่ฉินมีลำตัวยาวแบนยาวประมาณ ๑๓๐ ซ.ม. กว้าง ๒๐ ซ.ม. หนา ๕ ซ.ม. ทำด้วยไม้ถง มีตำแหน่งบอกเสียงฝังอยู่บนลำตัวฉินซึ่งอาจทำจากหยก ทอง เปลือกหอยหรือกระดูกสัตว์ มี ๑๓ จุด เรียกว่าฉินฮุย มีขา ๒ ขา มีลูกบิด ๗ อัน ที่ปลายลูกบิดมักจะมีพู่ห้อยเพื่อความสวยงาม

     กู่ฉินมี ๗ สาย ขนาดของสายเล็กใหญ่เรียงตามลำดับ ในสมัยโบราณสายกู่ฉินทำด้วยเส้นไหมปัจจุบันทำด้วยสายลวดหุ้มพลาสติก แต่เดิมสายของกู่ฉินจะมัดกับขา ปัจจุบันทำเป็นแผงไม้ติดไว้ใต้ลำตัวสำหรับขึงสายได้ง่ายขึ้น

     กู่ฉินแต่ละตัวจะมีชื่อสลักอยู่ด้านล่างของลำตัว กู่ฉินโบราณบางตัวอาจจะสลักข้อความว่าใครเป็นคนสร้าง และสร้างเพื่อใคร สร้างเมื่อไร โอกาสใด

 

วิธีการดีดกู่ฉิน

     ตามที่ปรากฏในภาพวาดโบราณทำให้ทราบว่า โบราณบรรเลงกู่ฉินโดยจะวางกู่ฉินไว้บนตักของผู้บรรเลง แต่ในปัจจุบันจะวางกู่ฉินบนโต๊ะฉินสูงประมาณ ๗๐ ซ.ม. ยาว ๑๑๐ ซ.ม. กว้าง ๓๐ ซ.ม. ผู้บรรเลงนั่งบนเก้าอี้

     การดีดกู่ฉินจะใช้ทั้งมือซ้ายและมือขวา เสียงที่เกิดจาการดีดสายมี ๓ แบบ คือ เสียงสายเปล่า เสียงที่เกิดจากการกดสายอย่างเต็มแรงและเสียงที่เกิดจากการสัมผัสสายอย่างเบาๆ มือซ้ายใช้นิ้วมือสัมผัสสายกู่ฉิน โดยจะใช้นิ้วทั้งสี่นิ้วยกเว้นนิ้วก้อย ส่วนมือขวาใช้ดีดสาย โดยที่ผู้บรรเลงจะต้องไว้เล็บมือให้ยาวนิดหน่อย การกดสายมีหลายลักษณะ เช่น กดสายแล้วหยุดอยู่กับที่ กดแล้วเคลื่อนไปหน้าหรือหลังอย่างช้าๆ หรืออย่างรวดเร็ว กดสายแล้วกระตุก กดสายแล้วเคลื่อนที่เป็นวงกลมรี ลักษณะการดีดสายและการกดสายของมือซ้ายและขวามีทั้งหมด ๘๙ แบบ

 

ลักษณะการบรรเลงกู่ฉิน

     การบรรเลงกู่ฉินมีทั้งบรรเลงเดี่ยว และบรรเลงร่วมกับเครื่องดนตรีชนิดอื่น เช่น กู่ฉินกับขลุ่ย กู่ฉินกับกู่เจิง หรือบรรเลงร่วมกับวงดนตรีจีน ปัจจุบันมีการนำกู่ฉินไปบรรเลงเดี่ยวในวงซิมโฟนี ทำให้ไพเราะและมีความเป็นนานาชาติมากขึ้นด้วย กู่ฉินสามารถบรรเลงคลอร้อง หรือคลอการขับลำนำ บางครั้งอาจจะบรรเลงประกอบการรำดาบ รำมวยจีน หรือฝึกชี่กงเพื่อสร้างบรรยากาศ และทำให้มีสมาธิมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้เพราะเสียงของกู่ฉินทุ้มและนุ่ม ท่วงทำนองของเพลงกู่ฉินส่วนใหญ่จะเป็นเพลงช้าๆ ฟังสบายๆ ทำให้จิตใจรู้สึกผ่อนคลาย

 

ความเชื่อเกี่ยวกับกู่ฉิน

      คนจีนเชื่อว่าการฟัง หรือการบรรเลงกู่ฉินมีประโยชน์ต่อจิตใจของผู้ฟัง หรือผู้บรรเลง มีคำกล่าวเกี่ยวกับการฟังกู่ฉินไว้ว่า ฟังกู่ฉินแล้ว จิตใจสงบ คุณธรรมถึงพร้อม ส่วนการบรรเลงกู่ฉินกล่าวไว้ว่า ผู้บรรเลงกู่ฉิน จะเลิก ละ วาง จากสิ่งไม่ดี คนโบราณสร้างกู่ฉินขึ้นมาเพื่อบรรเลง กล่อมเกลาจิตใจ ผู้ที่เคยหลงใหลและมัวเมาในโลกียะ ก็จะละวาง ตั้งตนอยู่ในความสงบ เรียบง่ายไม่ฟุ่มเฟือย

      การที่คนจีนเชื่อว่าการฟังหรือการบรรเลงกู่ฉินเป็นการกล่อมเกลาจิตใจนั้น อาจเป็นเพราะกู่ฉินเป็นเครื่องดนตรีที่มีเสียงเบาและนุ่มนวล อีกทั้งยังเป็นเครื่องดนตรีที่เน้นการบรรเลงเดี่ยว และสามารถทำให้มีความสุขตามลำพัง ในภาษาจีนเรียกว่า แปลว่าดนตรีที่ทำให้มีความสุขเพียงลำพัง คนจีนยังถือกู่ฉินเป็นเครื่องหมายของปัญญาชน เป็นของสูงส่ง มีคำกล่าวที่ว่า คนโบราณ เชื่อว่าผู้ที่ไร้คุณธรรมไม่สามารถจะฟังกู่ฉินได้

      ส่วนความเชื่อเกี่ยวกับการบรรเลงกู่ฉิน ต้องพิถีพิถันในการเลือกสถานที่ที่จะบรรเลง ก่อนบรรเลงต้องจุดธูป และสำรวมจิตให้เป็นหนึ่ง ถึงจะเข้าถึงสาระและอรรถรสของบทเพลง ดังนิยายในเรื่องความรักในหอแดงกล่าวไว้ดังนี้ หากว่าจะบรรเลงกู่ฉินต้องหาที่บรรเลงอันเหมาะสม เงียบสงบ ดังเช่นบนหอสูง ในป่า บนเขา หรือริมน้ำ ควรบรรเลงในวันที่อากาศดี เย็นสบาย ลมพัดอ่อนๆ พระจันทร์ส่องสว่าง จุดธูป สำรวมจิตใจจดจ่อไม่คิดฟุ้งซ่าน

      ก่อนจะบรรเลงกู่ฉินต้องอาบน้ำ แต่งกายให้สะอาดเรียบร้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องล้างมือให้สะอาด เมื่อจะบรรเลงกู่ฉินต้องเลือกดูผู้ฟังด้วย หากว่าไม่มีผู้เข้าใจหรือสามารถซาบซึ้งในเสียง ก็ให้บรรเลงคนเดียว ท่ามกลางสายลมเย็น ใต้เงาจันทร์ ในป่าสน หรือท่ามกลางภูเขา

 

เกร็ดตำนานของกู่ฉินในอารยธรรมจีนโบราณ

     กู่ฉินกับความรัก

    ในเรื่องกู่ฉินกับความรัก มีทั้งความรักที่เกิดจากเสียงกู่ฉินที่มีจินตนาการมาจากเรื่องที่เกี่ยวกับความรักดังมีตำนานและเรื่องเล่า ดังนี้

    ซือหม่าเซียงหรู (ปีที่ ๑๗๙-๑๑๘ ก่อน ค.ศ.) นักดนตรีที่มีชื่อเสียงในสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันตก (ปีที่ ๒๐๖ ก่อน ค.ศ. – ค.ศ. ๒๔) ซือหม่าเซียงหรูมีความสามารถในการแต่งเพลงและดีดกู่ฉินได้ดีเยี่ยมคนหนึ่ง วันหนึ่งซือหม่าเซียงหรูได้รับเชิญไปบ้านของจัวหวังซุน คณบดีในสมัยนั้น เขาได้บรรเลงกู่ฉินเพลง หงส์หาคู่ เป็นการเกี้ยวพาจัวเหวินจวินลูกสาวเจ้าของบ้าน จัวเหวินจวินตกหลุมรักซือหม่าเซียงหรู แต่พ่อของเธอไม่เห็นด้วยและพยายามขัดขวางทุกวิถีทาง แต่ก็ไม่สำเร็จในที่สุดจัวเหวินจวินก็หนีตามซือหม่าเซียงหรูไปใช้ชีวิตสามีภรรยาอย่างมีความสุข มีบทเพลงมากมายกล่าวชื่นชมความรักของคนทั้งสองว่าเป็นความรักแท้ที่ยิ่งใหญ่และเสียสละ

    ต่อมาซือหม่าเซียงหรู มีฐานะมั่นคงและร่ำรวยยิ่งขึ้น เขาคิดที่จะมีเมียน้อยตามแบบฉบับของชาวจีนที่มีฐานะดี ในสมัยโบราณ จัวเหวินจวินผู้เป็นภรรยาทราบเรื่องนี้เสียใจมาก จึงนำกู่ฉินออกมาดีด และขับลำนำเป็นการบรรยายความทุกข์และตัดพ้อต่อว่า เมื่อซือหม่าเซียงหรูได้ยินเพลงที่ภรรยาบรรเลงและขับร้อง ก็ล้มเลิกความตั้งใจที่จะมีเมียน้อย

    เพลงกู่ฉินกับความรักอีกเรื่องหนึ่งมีตำนานเรื่องเล่า ดังนี้

    ในสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันตก พระสนมเฉินอาเจียวผู้เคยเป็นสนมที่พระเจ้าฮั่นอู่ตี้ทรงโปรดปรานมาก ต่อมานางถูกพระเจ้าฮั่นอู่ตี้ทอดทิ้งให้อยู่โดดเดี่ยวที่ตำหนักฉางเหมิน นางโศกเศร้าและมีความทุกข์ระทมมาก พระสนมเฉินอาเจียวให้ซือหม่าเซียงหรูเขียนบทกวีชื่อ ลำนำจากฉางเหมิน เป็นการบรรยายความทุกข์ที่ถูกทอดทิ้ง ให้อยู่เดียวดายที่ตำหนักฉางเหมินโดยมีเนื้อหาบรรยายว่า

     พระเจ้าฮั่นอู่ตี้และสนมเฉินอาเจียวรู้จักกันมาตั้งแต่เยาว์วัย เมื่อโตเป็นหนุ่มสาวก็รักใคร่ชอบพอกัน ต่อมาก็ได้ถวายตัวเข้ามารับใช้เป็นนางสนม และใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขเมื่อเวลาผ่านไปทุกอย่างก็เปลี่ยนไป และในที่สุดก็ถูกทอดทิ้งและให้ย้ายมาอยู่ที่ตำหนักฉางเหมินซึ่งห่างไกลจากพระราชวังหลวง บทกวีนี้มีผู้นำไปร้องจนเข้าพระกรรณของพระเจ้าฮั่นอู่ตี้พระองค์ทรงฟังแล้วก็รู้สึกสะเทือนพระทัยมาก ในที่สุดพระองค์ก็ทรงรับพระสนมเฉินอาเจียวกลับไปอยู่พระราชวังหลวงเหมือนเดิม ต่อมานักแต่งเพลงกู่ฉินได้นำเรื่องนี้ไปแต่งเป็นเพลงกู่ฉินชื่อ คร่ำครวญที่ฉางเหมิน เป็นเพลงที่ทำนองเศร้าโศก บรรยายความรู้สึกของหญิงที่ถูกทอดทิ้งให้อยู่เดียวดาย ในทำนองเพลงสะท้อนถึงความทุกข์โดยใช้เสียงสูงของเสียงกู่ฉินพรรณนาความในใจของหญิง คล้ายกับเป็นเสียงร้องไห้สะอึกสะอื้นคร่ำครวญ

 

กู่ฉินกับการสงคราม

     การบรรเลงกู่ฉินสามารถนำไปเป็นส่วนหนึ่งของกลอุบายในการลวงข้าศึกได้ ดังในพงศาวดารจีนเรื่องสามก๊ก เป็นเรื่องที่คนไทยรู้จักกันดี กล่าวคือ ตอนที่ขงเบ้งเล่นดนตรีบนกำแพงเมืองลวงสุมาอี้ต้องยกทัพกลับไป เครื่องดนตรีที่ขงเบ้งบรรเลงก็คือ ฉิน หรือ กู่ฉิน ดังเนื้อความในฉบับภาษาจีนที่กล่าวไว้ดังนี้ (ผู้เขียนไม่อ้างถึงเนื้อความในฉบับภาษาไทย เพราะในฉบับภาษาไทยสำนวนต่างๆ มีการแปลคำว่าฉินแตกต่างกันไป คือมีทั้งกระจับปี่ ขิมและพิณ )

    แล้วขงเบ้งคลุมเสื้อครุยขนนก แล้วใช้ผ้าโพกศรีษะ ให้เด็กน้อยสองคนยกฉิน ขึ้นไปนั่งบนกำแพง แลตั้งกระถางธูปบูชาไว้เบื้องหน้า แล้วดีดฉินเล่นอยู่อย่างเพลิดเพลิน

กู่ฉินกับมิตรภาพและเพื่อนแท้

     ยุคชุนซิว (ปีที่ ๗๗๐ – ๒๒๑ ก่อน ค.ศ.) โป๋หยา ชาวรัฐฉู่ ผู้ชำนาญการบรรเลงกู่ฉิน วันหนึ่งดีดกู่ฉินให้จงจื่อฉีฟัง จงจื่อฉีฟังแล้วพูดว่า ท่วงทำนองเพลงกู่ฉินของท่านทำให้เรานึกถึงความยิ่งใหญ่ของภูเขาไท่ซาน โป๋หยาก็บรรเลงกู่ฉินต่อไปอีกท่อน พอบรรเลงจบจงจื่อฉีพูดว่า ท่วงทำนองเพลงที่ท่านเพิ่งบรรเลงจบไปนั้นราวกับสายน้ำไหล จากนั้นโป๋หยาและจงจื่อฉีจึงกลายเป็นเพื่อนที่สนิทที่รู้ใจ และเข้าใจกันทุกเรื่องเพราะไม่ว่าโป๋หยาจะบรรเลงเพลงใด จงจื่อฉีก็จะเข้าใจว่าในบทเพลงนั้นเป็นการบรรยายสิ่งใด วันหนึ่งเมื่อโป๋หยาทราบว่าจงจื่อฉีเสียชีวิต เขาโศกเศร้าเสียใจมากแล้วพูดว่า เมื่อในโลกนี้ไม่มีใครอีกแล้วที่จะเข้าใจบทเพลงของเรา แล้วไยจะต้องดีดฉินอีกต่อไป และแล้วโป๋หยาก็ทำลายกู่ฉินของเขาจนแหลกละเอียด ไม่ยอมเล่นกู่ฉินตลอดชีวิต เพลงที่โป๋หยาบรรเลงกู่ฉินให้จงจื่อฉีฟัง คือ เพลง ภูเขาสูงสายน้ำไหล เพลงนี้จึงเป็นบทเพลงที่เป็นสัญลักษณ์แสดงบทเพลงความเป็นเพื่อน ความเข้าอกเข้าใจระหว่างเพื่อน ปัจจุบันที่เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ยยังคงมีสถานที่ท่องเที่ยวชื่อว่า กู่ฉินไถ่ แปลว่า เวทีบรรเลงกู่ฉิน มีการจารึกคำว่าภูเขาสูงสายน้ำไหล เพลงนี้ยังคงเป็นที่นิยมมาถึงปัจจุบัน แต่เดิมเพลงนี้เป็นเพลงเพลงเดียว ปัจจุบันได้แบ่งออกเป็น 2 เพลง คือ เพลงภูเขาสูง และเพลงน้ำไหล เป็นเพลงเดี่ยวของกู่ฉินและกู่เจิง

กู่ฉินกับความแค้นและความกล้าหาญ

     กู่ฉินกับความแค้นมีตำนาน ดังนี้ ในสมัยจ้านกว๋อ (ปีที่ ๔๗๕ – ๒๒๑ ก่อน ค.ศ.) บิดาของเนี่ยเจิ้งถูกเจ้ารัฐหานฆ่าตาย เพราะไม่สามารถตีดาบได้ทันตามกำหนด เพื่อจะล้างแค้นให้บิดา เนี่ยเจิ้งจึงปลอมตัวเป็นช่างปูนเข้าไปทำงานในวังเมื่อมีโอกาสจึงลอกแทงเจ้าครองรัฐหานแต่ไม่สำเร็จ ต้องหนีออกจากรัฐหานไป ไปฝึกกู่ฉินบนภูเขาไท่ซานเป็นเวลา 10 ปี จนมีฝีมือเชี่ยวชาญ ต่อมาก็กลับมายังรัฐหานโดยการทำลายโฉมหน้าตนเอง และกินถ่านเพื่อให้เสียงเปลี่ยน เพราะเกรงว่าผู้คนจำได้ เพราะเคยลอบสังหารเจ้ารัฐหานมาครั้งหนึ่งแล้ว เนื่องจากฝีมือการบรรเลงกู่ฉินยอดเยี่ยมจึงได้โอกาสไปบรรเลงให้เจ้าครองรัฐหานฟัง และเป็นที่ถูกพระทัยเจ้าครองรัฐหานเลยให้เข้าไปเป็นนักดนตรีในราชสำนัก ทำหน้าที่บรรเลงกู่ฉิน เนี่ยเจิ้งมีแผนการอยู่นานแล้ว ที่จะล้างแค้นให้บิดาของตน เลยฉวยโอกาสตอนที่เจ้ารัฐหานไม่ระวังตัวโดยการแอบซ่อนมีดไว้ในตัวกู่ฉิน ขณะที่บรรเลงกู่ฉิน ก็ลอบเอามีดออกมาแทงเจ้าครองรัฐหานตาย แล้วเนี่ยเจิ้งก็แทงตัวตายตามไปด้วย มีคนเชื่อว่าบทเพลงกู่ฉินชื่อ กว่างหลิงส่าน เพลงนี้นำเรื่องเนี่ยเจิ้งแทงเจ้ารัฐหาน (สำหรับรายละเอียดเรื่องเนี่ยเจิ้งแทงเจ้ารัฐหานมีหลายสำนวนดังนั้นรายละเอียดจึงต่างกันออกไป ในที่นี้ผู้เขียนยึดเนื้อหาตามคำอธิบายของศาสตราจารย์อู๋เหวินกวง )มาแต่งเป็นเพลงกู่ฉิน เรื่องนี้ดูจะขัดแย้งกับความเชื่อที่ว่า การฟังหรือการเล่นกู่ฉินสามารถกล่อมเกลาจิตใจให้คนเป็นคนดีมีคุณธรรม ทั้งนี้อาจเป็นเพราะคนจีนเห็นว่าการล้างแค้นเป็นคุณธรรมอย่างหนึ่งที่ต้องทำ โดยเฉพาะล้างแค้นให้บิดา มารดา ดังจะเห็นได้จากภาพยนตร์หรือนิยายกำลังภายในของจีน มักมีแก่นสำคัญอยู่ที่การล้างแค้นเป็นสำคัญ ไม่ว่าจะล้างแค้นให้ บิดา มารดา ครู อาจารย์ พี่น้อง ตลอดจนมิตรสหาย ผู้เขียนเห็นคำสอนที่ว่า เวรต้องระงับด้วยการไม่จองเวร เป็นสัจธรรมคำสอนที่ประเสริฐที่สุด

      สำหรับกู่ฉินกับความกล้าหาญมีตำนานดังนี้ จีคัง (ค.ศ. ๒๒๓ – ๒๖๓) ในสมัยราชวงศ์เว่ยตอนปลาย จีคังเป็นกวีและนักปรัชญาทางดนตรีที่มีฝีมือในการดีดกู่ฉินเขาเป็นผู้เสนอแนวคิดที่ว่า ดนตรีไม่มีเศร้า ไม่มีสุข กล่าวคือ ความรู้สึกเศร้าโศกเสียใจ สลดหดหู่ สนุกสนาน ร่าเริง สุขใจ อารมณ์ความรู้สึกทั้งหลายเหล่านี้ที่เกิดขึ้นในขณะที่ฟังดนตรีขึ้นอยู่กับผู้ฟังทั้งสิ้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเสียงดนตรี เพราะดนตรีไม่มีเศร้า ไม่มีสุข เช่น หากผู้ฟังคนนั้นลูกรักมาเสียชีวิตหรือป่วยหนัก แม้จะให้เขาฟังเพลงที่สนุกสนานร่าเริงอย่างไร เขาก็คงจะไม่มีอารมณ์ร่วมกับบทเพลงนั้น

      จีคังเป็นหนึ่งใน กลุ่มเจ็ดเมธีในป่าไผ่ เมธีในกลุ่มนี้เป็นนักคิดและกวีที่รวมตัวกันแล้วปลีกตัวเองออกมาจากสังคม เข้าไปอยู่ในป่า มีชีวิตเรียบง่าย วันๆ หนึ่งก็ทำไร่ทำสวน ดื่มเหล้า แต่งบทกวี ดีดฉิน แต่ในส่วนลึกเมธีเหล่านี้มีหัวรุนแรง ไม่พอใจในการเมืองสมัยนั้น วันหนึ่งจีคังไปวิจารณ์ผู้ปกครองที่มีอำนาจ เขาเลยถูกจับเข้าคุก และในที่สุดถูกตัดสินให้ประหารชีวิต ก่อนที่จะถูกประหารจีคังยังให้นำกู่ฉินมาดีด เขาสามารถสะกดความหวาดกลัวโดยการบรรเลงกู่ฉินในเพลงกว่างหลิงส่าน โดยที่มิได้แสดงความหวาดกลัวต่อความตายเลยสักนิด ทำให้ตำนานบทเพลงกู่ฉินกว่างหลิงส่านเพลงนี้มีสีสันและมีชื่อเสียงมาจนถึงปัจจุบัน

กู่ฉินกับความขัดแย้งและทุกข์รันทดใจ

     กู่ฉินกับความขัดแย้งและทุกข์รันทดใจมีตำนานที่สะเทือนใจดังนี้ ไฉ่เหวินจี (ค.ศ.๑๗๗- ?) ลูกสาวของไฉ่ยงนักดีดกู่ฉินที่มีชื่อเสียง ในสมัยราชวงศ์สมัยฮั่นตอนปลาย เป็นหญิงที่มีชีวิตที่อาภัพ ไฉ่เหวินจีเป็นนักดีดกู่ฉินเช่นกัน พ่อของเธอถูกใส่ร้ายและถูกจับแล้วเสียชีวิตในคุก ไฉ่เหวินจีแต่งงานได้ไม่นานสามีเสียชีวิตต้องกลับมาอยู่กับแม่ บ้านเมืองเกิดสงคราม ไฉ่เหวินจีถูกจับตัวไปเป็นเชลยในดินแดนของเผ่าซงหนู (ชนเผ่านี้เป็นพวกเติร์ก อาศัยอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน) ต่อมาไฉ่เหวินจีได้ไปเป็นพระสนมของเจ้าเผ่าซงหนู อาศัยในดินแดนเผ่าซงหนู ๑๒ ปี มีลูกสองคน ต่อมาโจโฉได้เป็นเจ้ารัฐเว่ย ได้ส่งคนนำเงินทองมากมายไปไถ่ตัวไฉ่เหวินจีกลับมา เพราะโจโฉแต่เดิมรู้จักและสนิทสนมกับไฉ่ยงพ่อของเธอ เจ้าเผ่าซงหนูยอมให้ไถ่ตัวเธอกลับไปได้ แต่ไม่ยอมให้ลูกทั้งสองกลับมาด้วย ดังนั้นจึงทำให้ไฉ่เหวินจีมีความโศกเศร้าและสับสนเป็นอย่างยิ่ง ใจหนึ่งก็คิดถึงบ้านเกิดเมืองนอนใจจะขาด อีกใจหนึ่งก็ไม่อยากจะจากลูกทั้งสอง เธอจึงเกิดความสับสนและขัดแย้งในใจ ไฉ่เหวินจีได้นำความทุกข์นี้มาบรรเลงเป็นเพลงกู่ฉิน โดยมีท่วงทำนองดนตรีของชนเผ่าซงหนูผสมกับของจีน เพลงนี้เป็นบทเพลงกู่ฉินที่มีชื่อเสียงมากชื่อว่า หูเจียสือปาไพ

กู่ฉินกับสุราเมรัย

     เหล้าเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมจีน มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าชา ชาเป็นเครื่องดื่มที่ดื่มกันทั่วไป ชาดื่มแล้วแก้กระหาย ให้ความเย็นแก่ร่างกาย ส่วนเหล้านั้นให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย ดื่มเพื่อสุขภาพ เมื่อมีงานฉลอง หรือดื่มเพื่อเรียกน้ำย่อยก่อนรับประทานอาหาร ในบรรดาเพลงกู่ฉินมีหลายเพลงที่เป็นการบรรยายถึงอาการเมาเหล้า ในที่นี้จะแนะนำเพลง แปลว่า เมาเหล้าราวกับเสียสติ ( แปลว่า เหล้า สุรา ส่วน แปลว่าบ้า เสียสติ) เพลงนี้แต่งโดยหร่วนจี๋(ค.ศ. ๒๑๐ – ๒๖๓) ซึ่งเป็นหนึ่งใน กลุ่มเจ็ดเมธีในป่าไผ่ เช่นเดียวกับจีคัง หร่วนจี๋ชอบดื่มสุราเป็นชีวิตจิตใจ วันทั้งวันเขาได้แต่ดื่มสุราจนเมามายเป็นการดับทุกข์ เพราะเขาไม่พอใจการปกครองในสมัยนั้น เขาจึงในอาการมึนเมาอยู่ตลอดเวลา หร่วนจี๋แต่งเพลงนี้จากประสบการณ์ของตนเอง ที่มีอาการมึนเมาจากการดื่มสุราอย่างมาก เพลงนี้มีทำนองเป็นการบรรยายลักษณะท่าทางของคนเมาเหล้าอย่างหนัก จนยืนไม่อยู่กับที่ ยืนเอียงไปเอียงมา เดินเซไปเซมาอย่างไม่ได้สติ ท่อนท้ายเร็วจังหวะสั้นกระชับ และจบลงอย่างกะทันหัน ท่อนนี้เป็นการบรรยายภาพเซียนที่เมามายจนอาเจียนออกมาหมด นับว่าเป็นเพลงที่มีคีตศิลป์ชั้นสูง

 

กู่ฉินกับสำนวน – สุภาษิตจีน

      ในสำนวน – สุภาษิตจีนที่เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายมักจะมีตำนาน หรือนิทานเล่าประกอบกู่ฉิน หรือฉิน ปรากฎอยู่ในหลายสำนวน ในที่นี้จะขอยกมาเพียง ๔ สำนวนเท่านั้น คือ

     ดีดฉินให้วัวฟัง ตำนานของสำนวนนี้มีดังนี้ กงหมิงอี้ดีดกู่ฉินให้วัวฟัง วัวนั้นก็ได้แต่กินหญ้าไม่สนใจ กงหมิงอี้คิดว่าเพลงนี้ไม่เหมาะกับวัว จึงเปลี่ยนไปดีดเลียน เสียงร้องของตัวแมลง เสียงร้องของลูกวัวที่ร้องเพราะหิวนม วัวตัวนั้นกลับกระดิกหาง หูตั้งชัน แล้วเดินเข้ามาฟังใกล้ๆ ต่อมาตำนานนี้กลายเป็นสำนวนจีนที่สอนให้รู้ว่า การพูด หรือการอธิบายเหตุผลให้ใครฟังต้องเลือกเนื้อหา เรื่องราว หรือเหตุผลให้เหมาะสมกับคนฟังด้วย หรืออย่าไปพูดกับคนที่ไม่รู้ ไม่เข้าใจฟังเลย เสียเวลาเปล่า มีน้ำเสียงเป็นการดูถูกผู้ฟังด้วย สำนวนนี้คล้ายกับสำนวนไทยว่า สีซอให้ควายฟัง

    ฉินหางไหม้ ตำนานของสำนวนนี้มีดังนี้ ไฉ่ยง (ค.ศ. ๑๓๒-๑๙๒) นักดีดกู่ฉินที่มีชื่อเสียงในสมัยราชวงศ์ฮั่นตอนปลาย เดินทางไปท่องเที่ยวที่รัฐอู๋ ขณะนั่งรอรับประทานอาหารเขาได้ยินเสียงแตกของไม้ส่งเสียงก้องดังกังวานแว่วมาจากในห้องครัว ทราบว่าเป็นเสียงแตกของฟืนในเตาไฟ เขารู้ว่าไม้ฟืนท่อนนั้นเป็นไม้เนื้อดี เหมาะสำหรับนำมาทำเป็นกู่ฉิน ไฉ่ยงก็รีบรุดเข้าไปในห้องครัวนำฟืนท่อนนั้นออกมาจากเตาไฟ แต่ไม้ท่อนนั้นไหม้ไปแล้วบางส่วน เมื่อนำมาทำเป็นกู่ฉินจึงมีรอยไหม้อยู่ช่วงปลายของลำตัวกู่ฉิน จึงเรียกกู่ฉินตัวนี้ว่า ฉินหางไหม้ ต่อมาตำนานนี้กลายเป็นสำนวนจีนที่สอนให้รู้ว่า คนเราต้องรู้จักจำแนกแยกแยะของดี ของไม่ดี ถึงจะใช้ประโยชน์จากสิ่งของนั้นได้เต็มที่

    ฉินไร้สาย ตำนานของสำนวนนี้มีดังนี้ เถายวนหมิง (ค.ศ. ๓๖๕-๔๒๗) เป็นกวีที่มีชื่อเสียงมากในสมัยราชวงศ์จิ้นตะวันออก (ค.ศ. ๓๑๗-๔๒๐) เถายวนหมิงหลีกเร้นไปทำไร่ทำสวนในชนบท ที่กระท่อมของเขามีกู่ฉินอยู่ตัวหนึ่ง แต่เป็นฉินไม่มีสาย ทุกครั้งที่เขาดื่มสุราจนเมาได้ที่แล้ว ก็จะนำฉินนั้นออกมาทำท่าทำทางดีดอย่างมีความสุข ทำท่าดีดฉินไปพลางร้องเพลงไปพลาง เนื้อเพลงที่ร้องมีดังนี้ “ เมื่อเข้าใจในเสียงเพลง แล้วไยต้องขึ้นสายเพื่อให้เกิดเสียง ” สำนวนนี้ใช้ในการพรรณา หรือบรรยายท่าทางที่มีความสุข มีความสบายใจอย่างแท้จริง ไม่มีความกังวลต่อเรื่องใดทั้งสิ้น

    ฉินหนึ่งกระเรียนหนึ่ง มีตำนานอธิบายไว้ดังนี้ ในสมัยโบราณขุนนางผู้ซื่อสัตย์คนหนึ่งได้รับคำสั่งให้เดินทางไปรับตำแหน่งที่รัฐสู่ เขาก็เก็บสัมภาระ แล้วขี่ม้าออกเดินทางไป สัมภาระหรือทรัพย์สินที่นำติดตัวไปด้วยมีเพียงฉินหนึ่งตัว และนกกระเรียนหนึ่งตัวเท่านั้น สำนวนนี้ใช้ในการพรรณนาว่า มีสัมภาระหรือทรัพย์สินน้อยมากเหลือเกิน นอกจากนี้ยังมีความหมายแฝงว่าเป็นข้าราชการที่ซื่อสัตย์ สุจริต ตรงไปตรงมา ไม่ฉ้อราษฎร์บังหลวง

บทสรุป

    เครื่องดนตรีก็คล้ายกับมนุษย์ปุถุชนธรรมดา มีทั้งรุ่งเรืองและเสื่อมลง บางยุคก็ได้รับความนิยมแพร่หลาย บางยุคผู้คนก็ไม่สนใจ ยามรุ่งเรืองทั้งกวีและนักปราชญ์ต่างนิยมเรียนกู่ฉิน ฟังและดีดกู่ฉิน นำไปเป็นเครื่องมือในการทำสงคราม ทำการล้างแค้น ตลอดจนนำไปบรรเลงระบายความทุกข์กลัดกลุ้มใจ ยามที่เสื่อมลงกู่ฉินก็ถูกลืมและไม่ได้รับความนิยมหรือความสนใจจากประชาชนเท่าที่ควร

    กู่ฉินแม้ว่าจะเป็นเครื่องดนตรีจีนที่เก่าแก่ และมีความสำคัญในประวัติศาสตร์ดนตรีจีน กู่ฉินยังเป็นเครื่องดนตรีที่นิยมมาตั้งแต่สมัยโบราณ แต่กระแสความนิยมในบางสมัยก็มีการเปลี่ยนแปลงไป เช่น สมัยราชวงศ์ถัง (ค.ศ. ๖๑๘-๙๑๗) ในสมัยนี้จีนมีการติดต่อกับต่างประเทศ โดยผ่านเส้นทางสายไหม ดังนั้นจึงมีการแลกเปลี่ยนศิลปะและวัฒนธรรมกับนานาประเทศทางตะวันตก แม้ว่าจะยังคงมีปัญญาชน คนรู้หนังสือ คนที่มีการศึกษา เช่น บรรดากวีที่เป็นพวกอนุรักษ์นิยมยังคงเล่นกู่ฉินและฟังกู่ฉินอยู่บ้าง แต่ในหมู่ชาวบ้านหรือประชาชนทั่วไป กู่ฉินไม่ได้รับความนิยมมากเหมือนกับเครื่องดนตรีต่างประเทศ สมัยราชวงศ์ถังซึ่งเป็นยุคนิยมของนอก เครื่องดนตรีต่างประเทศได้รับความนิยมมากขึ้น เช่น ผีผา ซอชนิดต่างๆ มีเรื่องเล่าว่า พระจักรพรรดิถังเจี้ยนจงไม่ทรงโปรดเสียงของกู่ฉิน มีอยู่ครั้งหนึ่งทรงฟังคนบรรเลงกู่ฉิน ยังไม่ทันจะจบเพลงก็ทรงให้หยุดบรรเลงและทรงสั่งให้ออกไป ทั้งนี้อาจเป็นเพราะเสียงของกู่ฉินนั้นทุ้มต่ำ นุ่ม ไม่โฉ่งฉ่าง ไม่ดังกังวานในที่โล่งกว้าง ดังนั้นจึงไม่สามารถเรียกความสนใจ หรือสะกดผู้ฟังได้ ผู้ฟังต้องฟังอย่างตั้งใจ และใช้สมาธิอย่างสูงจึงจะซาบซึ้งและเข้าใจในสุนทรียภาพแห่งอรรถรสในคีตานิพนธ์

     อย่างไรก็ตามกู่ฉินก็ยังเป็นเครื่องดนตรีที่นิยมในหมู่นักปราชญ์ราชบัณฑิต หรือผู้ที่มีความรู้ มีการศึกษา แม้จำนวนไม่มาก แต่ก็ยังมีการเรียน การสอน การแสดงกู่ฉินมาทุกยุคทุกสมัยจนถึงทุกวันนี้ เพราะบุคคลเหล่านี้ยังคงเห็นคุณค่าของความเป็นส่วนหนึ่งในประวัติศาสตร์อารยธรรมจีน ศิลปะการฟังและการบรรเลงกู่ฉินเปรียบประดุจธารน้ำน้อยที่ไหลเอื่อยๆ อย่างไม่มีวันขาดสาย หรือเหือดแห้งไปจากสายธารแห่งอารยธรรมมังกรได้

    หากผู้อ่านมีความประสงค์จะฟังเสียงกู่ฉิน หรือเครื่องดนตรีจีนอื่นๆ สามารถติดตามรับฟังรายการลำนำไหมไผ่ทางสถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทุกวันเสาร์เวลา ๑๑.๐๕-๑๑.๓๐ น. FM ๑๐๑.๕ MHZ

 

จากนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๒๓ ฉบับที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕

 

 

Date

27 เมษายน 2564

Tags

พิณ หมากรุก ลายสือศิลป์ ภาพวาด