ช่างทำกู่ฉินผู้หลงใหลในศิลปะและเสียงดนตรี 3
|
สัมภาษณ์และภาพ : เหวินเหวิน |
ในวัยเด็กแม้จะยากจนแต่เขาก็มีใจรักในศิลปะและดนตรี เขาชอบแกะสลัก วาดรูป และประดิษฐ์เครื่องดนตรีเล่นเองมาตั้งแต่ตัวยังน้อย เขาจบสาขาการทำเครื่องดนตรีจีน แล้วไปทำงานแกะสลักไม้อยู่ช่วงหนึ่งก่อนที่จะมาทำกู่ฉินเป็นอาชีพ ในปัจจุบัน ฝีมือการทำกู่ฉินของเขาเป็นที่ยอมรับอย่างสูงจากนักดนตรีกู่ฉินทั่วประเทศ กู่ฉินกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต และวิธีการทำกู่ฉินก็คือวิถีชีวิตของเขานั่นเอง ตอนที่ 3 กู่ฉินกับการได้รับเลือกให้เป็นมรดกโลก
Q: คุณมีความเห็นอย่างไรกับการที่กู่ฉินได้รับเลือกให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ( เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2003) A: ผมว่าการเสนอชื่อให้กู่ฉินเป็นมรดกโลก ความคิดนี้มีปัญหา แน่นอนครับว่า ผมรู้สึกยินดีเป็นอย่างมากที่กู่ฉินของจีนได้รับการยอมรับจากผู้คนทั่วโลก แต่ผมว่ามันน่าเศร้าใจเสียมากกว่า และรู้สึกว่าคนจีนเป็นคนที่น่าสงสารมาก เพราะเรามีของดีอยู่กับตัว แต่มีคนเพียงไม่กี่คนที่รู้คุณค่าของมัน แล้วต้องให้คนอื่นมาบอกว่าของที่เรามีอยู่นั้นมีคุณค่าอย่างไร การได้หรือไม่ได้เป็นมรดกโลกสำหรับผมนั้นไม่มีความสำคัญ มันแทบจะไม่มีผลอะไรต่อคุณค่าของกู่ฉินเลย ถ้าจะพูดให้สุดโต่งเพื่อเสียดสีชาวจีนก็คงจะเป็นว่า การได้เป็นมรดกโลกในครั้งนี้อาจเป็นแค่ทำให้คนจีนสามารถแยกออกว่าอันไหนคือกู่ฉิน อันไหนคือกู่เจิงก็เท่านั้นเอง การสืบทอดของกู่ฉินยังต้องการคนทำกู่ฉิน คนสอนกู่ฉินและคนเรียนที่รักกู่ฉินจริงๆ ไม่ใช่แค่ตามกระแสสังคม
Q: ปริมาณคนซื้อกู่ฉินก่อนและหลังได้รับเลือกให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแตกต่างกันมากไหม A: ไม่ได้รู้สึกชัดเจน แต่ผมเชื่อว่ากู่ฉินไม่ใช่สิ่งที่พอบอกว่าเป็นมรดกโลกแล้ว คนจำนวนมากก็จะหันมาให้ความสนใจ ในช่วงแรกๆ อาจจะมีบ้างที่มาเพราะชื่อนี้ แต่คนเหล่านี้คงจะไม่ได้สนใจอย่างยาวนาน พวกเขาเพียงแต่รู้สึกสนใจเพราะกระแสนิยม หากในที่สุดแล้วพวกเขาไม่ค้นพบคุณค่าที่แท้จริงของกู่ฉิน ก็คงจะยืนหยัดไม่ได้นานนัก ผมยังรู้สึกว่าเด็กจีนเรียนดนตรีตะวันตกไม่ว่าจะเป็นเปียโน ไวโอลิน แต่สิ่งที่พวกเขาเรียนเป็นแต่เพียงวิธีการเล่นดนตรี ไม่เข้าถึงวิญญาณของดนตรีตะวันตก ตอนนี้มีคนหันมาสนใจเรียนดนตรีจีนกันมากขึ้น ผมเองก็ยังไม่แน่ใจว่าพวกเขาจะเข้าถึงจิตวิญญาณของดนตรีจีนได้หรือเปล่า จริงๆ แล้วกู่ฉินไม่จำเป็นต้องทำให้แพร่หลายทั่วไป เพราะกู่ฉินเป็นศิลปะที่อยู่บนยอดของปิระมิด โดยจำเป็นต้องศึกษาและอบรมบ่มเพาะตนเองในหลายด้านๆ จนเข้าใจคุณค่าของมัน เมื่อนั้นคุณถึงจะชอบกู่ฉิน ทำให้กู่ฉินเป็นเครื่องมือชนิดหนึ่งที่ช่วยยกระดับจิตใจของตน ซึ่งไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถเข้าถึงภาวะนี้ได้ ดังนั้นจึงต้องพัฒนาอย่างช้าๆ ให้เวลากับมัน เพราะการยกระดับคุณภาพของคนต้องใช้เวลา แต่ผมเชื่อว่าในอนาคตคนจะหันมาสนใจกู่ฉินมากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับการศึกษาและการเผยแพร่วัฒนธรรมโบราณ เช่น ถ้าคนส่วนใหญ่ได้อ่านและเข้าใจตำราทั้ง 4 กับคัมภีร์ทั้ง 5 มากขึ้น
Q: แล้วในโรงเรียนสอนเรื่องพวกนี้หรือเปล่า A: ในโรงเรียนไม่สอน ซึ่งนี่เป็นเรื่องน่าเศร้าของการศึกษาจีน และเป็นด้านที่โหดร้ายมาก กระทรวงศึกษาธิการของจีนไม่มีน้ำยา ไปใช้รูปแบบการศึกษาของตะวันตกแต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งเป็นความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง มีคนเคยกล่าวไว้ว่า “ กระทรวงวัฒนธรรมไม่มีวัฒธรรม กระทรวงศึกษาไม่รู้จักการศึกษา ” คนจีนควรมีการศึกษาในแบบของตัวเอง บรรพบุรุษมอบสิ่งดีๆ ไว้ให้เราตั้งมากมาย ถึงแม้คุณจะไม่ใช้ตำราหรือคัมภีร์เหล่านี้เป็นแบบเรียนหลัก แต่อย่างน้อยคุณก็ควรจะให้เป็นวิชาเลือก
Q: แต่เคยได้ยินว่ามีโรงเรียนสอนพิเศษบางแห่งที่เปิดสอนนะคะ A: แน่นอนครับ ภาคเอกชนให้ความสนใจและให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมจีนโบราณมากขึ้น ผมเชื่อว่าคงมีสักวันที่กระทรวงศึกษาธิการจะถูกบีบให้หันมาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ข้าราชการกระทรวงไม่เห็นได้ทำอะไร มีแต่สร้างความบิดเบี้ยวขึ้นในใจเด็ก ผมจึงคัดค้านการศึกษาของจีนตอนนี้เป็นอย่างมาก ผมรู้สึกเหนื่อยแทนลูกชายของผมจริงๆ สิ่งที่เขาเรียนเกือบทั้งหมดเป็นสิ่งที่ไร้ประโยชน์ ไร้ประโยชน์จริงๆ เด็กๆ ควรจะได้มีความสุข ในขณะที่เล่นก็ได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ ไปด้วย อย่างคัมภีร์อักษร 3 ตัว เป็นคัมภีร์สอนคนที่ดีมาก ไม่เพียงแต่ไม่สอน ในยุคปฏิวัติวัฒนธรรมก็ถูกวิพากวิจารณ์ แต่ตอนนี้ยุคนั้นมันก็ผ่านไปแล้ว จึงควรหันกลับมาส่งเสริม กัน ผมว่าเราควรให้ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับวัฒนธรรมจีนแก่เด็ก จากนั้นถ้าเห็นว่าเด็กมีความสามารถหรือมีความสนใจในด้านใดเป็นพิเศษก็ไปสอนด้านนั้นเป็นการเฉพาะ อย่างนี้จึงจะสร้างบุคลากรที่มีความรักในงานที่ตนทำได้ ซึ่งถ้าคนไม่มีความรักในงานที่ทำแล้ว จะให้ประสบความสำเร็จมันเป็นไปไม่ได้หรอก
กู่ฉินฝีมือคุณหวังเผิง Q: คุณมีความเห็นอย่างไรกับคนที่เล่นกู่ฉินและผู้เรียนกู่ฉินในปัจจุบันนี้ A: คนที่เล่นกู่ฉินในอดีตมีหลายสำนัก แต่ในปัจจุบันไม่ได้แบ่งมากมายขนาดนั้น ตอนนี้หากจะแบ่งก็เป็นเพียงสายดั้งเดิมกับสายวิทยาลัยการดนตรี ผมว่าจะทำความเข้าใจกู่ฉินจำเป็นต้องอาศัยสายดั้งเดิมเป็นพื้นฐาน สายวิทยาลัยดนตรีมาช่วยพัฒนา แล้วนำมาประสานกัน ส่วนผู้เรียนกู่ฉินผมก็หวังว่าพวกเขาควรที่จะได้เรียนรู้วัฒนธรรมโบราณของจีนบ้าง แต่ผมไม่ชอบคนที่ชอบอ้างวัฒนธรรมโบราณมาสร้างชื่อเสียงให้กับตัวเอง ทั้งๆ ที่มีความรู้เรื่องโบราณน้อยมาก แล้วบอกว่าตัวเองเป็นสายดั้งเดิม
Q: มองอนาคตของกู่ฉินเป็นอย่างไรบ้าง A: ก่อนอื่นผมก็อยากให้คนหันมาเล่นกู่ฉินมากขึ้น เพื่อบ่มเพาะตนเอง สร้างความสมดุลในจิตใจตน อยากให้มีคนออกมาแสดงกู่ฉินให้มากขึ้น เพื่อให้คนรู้จักและเผยแพร่กู่ฉินเพิ่มขึ้น แต่ผมก็หวังว่าการแสดงก็ต้องมีขอบเขตนะครับ จำเป็นต้องมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ผมอยากให้กู่ฉินเป็นศิลปะที่สอดประสานกับธรรมชาติ คนที่มาชมก็มีใจที่จะมาเพื่อจะแสวงหาสภาพแวดล้อมที่ดี ซึ่งคนก็เป็นส่วนหนึ่งของสภาพแวดล้อมด้วย ทั้งผู้แสดง ผู้ชม การตกแต่ง บรรยากาศต้องสอดประสานกัน นอกจากนี้ก็อยากจะให้มีการเรียบเรียงบทเพลงใหม่ขึ้นมาเล่นคู่กับเครื่องดนตรีชนิดอื่นๆ เช่น ซวิน(ขลุ่ยดินเผา) เซียว (ขลุ่ยไม้ไผ่) โดยพยายามดึงเอาจุดเด่นของเครื่องดนตรีแต่ละชนิดออกมา
Q: ในอนาคตคุณมีแผนจะทำอะไรบ้าง A: ความฝันอย่างหนึ่งของผมคือ อยากจะเปิดโรงเรียนสอนทำกู่ฉิน แต่มันก็มีปัญหาอยู่ในเรื่องของกำลัง เพราะคนเรียนกู่ฉินมีน้อย ขาดแคลนทุนทรัพย์ ภาครัฐเองก็ไม่ได้ให้ความสำคัญ จริงๆ แล้วหากรัฐยอมลงทุนสักหน่อยเพื่ออนุรักษ์กู่ฉินไว้ก็จะเป็นเรื่องดี โรงเรียนที่ผมคิดอยากจะตั้งมี 2 ลักษณะคือ โรงเรียนที่สอนให้นักเรียนได้เรียนรู้วิธีการและขั้นตอนการทำกู่ฉินแบบดั้งเดิม เข้าใจถึงความหมายแฝงในการทำกู่ฉิน อีกลักษณะหนึ่งคือโรงเรียนที่เน้นการอนุรักษ์โบราณวัตถุหรือมรดกทางวัฒนธรรมของจีน กู่ฉินมีเอกสารมากมายที่จำเป็นต้องรักษา รวบรวมและเรียบเรียง เก็บสะสมกู่ฉินโบราณ เป็นต้น ซึ่งถ้าทำได้จะมีคุณูปการต่อชาวจีนและชาวโลกเป็นอย่างมาก แต่หากอาศัยแต่ผมคนเดียวพลังมันน้อยมาก ตอนนี้จึงเป็นเพียงความหวังอย่างหนึ่งเท่านั้นเอง ผมเชื่อว่าถ้าผมเองยืนหยัดจะทำต่อไปสุดท้ายมันก็ประสบความสำเร็จได้
|