อนุสรณ์สถานศีว์เปยหง

 


อนุสรณ์สถานศีว์เปยหง


เรื่องและภาพ เกาหมิงยี่

นิตยสารภาพจีน
ปี 5 ฉบับที่ 60 ตุลาคม 2535

      



ภาพเหมือนของศีว์เปยหงที่ท่านวาดเอง
     

      กันยายน ค.ศ.1953 ศีว์เปยหง (徐悲鸿) จิตรกรเอกและนักการศึกษาด้านวิจิตรศิลป์
ของจีน ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งอธิการบดีของสถาบันวิจิตรศิลป์แห่งชาติและนายกสมาคม
จิตรกรแห่งประเทศจีนได้ถึงแก่กรรมลง ขณะที่มีอายุเพียง 58 ปี (ค.ศ.1895-1953)

       หลังจากที่ศีว์เปยหงถึงแก่กรรมได้ไม่นาน บ้านเลขที่ 16 ถนนโซ่วลู่ เขตตงตัน
นครปักกิ่งซึ่งเป็นบ้านที่ศีว์เปยหงได้อาศัยอยู่เป็นเวลาถึง 7 ปี ได้ถูกทางการกำหนดให้
เป็นอนุสรณ์สถานศีว์เปยหง ( 徐悲鸿纪念馆 ) ท่านนายกรัฐมนตรีโจวเอินไหลได้เขียน
ป้ายชื่อ‘‘บ้านศีว์-เปยหง’’ ให้แก่อนุสรณ์สถานแห่งนี้



อนุสรณ์สถานศีว์เปยหง ตั้งอยู่ที่ถนนเป่ยต้าเจ เขตซินเจโข่ว นครปักกิ่ง



      ในปีค.ศ.1967 บริเวณอนุสรณ์สถานศีว์เปยหงเป็นเขตที่ทางรถไฟใต้ดินจะต้องตัด
ผ่านจึงได้มีการรื้ออนุสรณ์สถานแห่งนี้แล้วสร้างขึ้นใหม่ในเขตซินเจโข่ว อาคารของอนุสรณ์
สถานแห่งใหม่เป็นตึกทันสมัยสีเทาอมเขียว ตั้งอยู่บนเนื้อที่ทั้งหมด 2,700 ตารางเมตร
ที่ลานด้านหน้าอาคารมีรูปแกะสลักหินอ่อนของศีว์เปยหงตั้งอยู่

        เมื่อครั้งที่ศีว์เปยหงยังมีชีวิตอยู่ ท่านเคยพูดกับเลี่ยวจิ้งเหวินภรรยาของท่านว่า
ผลงานและของสะสมทุกชิ้นของท่านล้วนเป็นสมบัติของประชาชน เมื่อท่านเสียชีวิตแล้ว
เลี่ยวจิ้งเหวินได้ปฏิบัติตามความประสงค์ของท่าน โดยนำผลงานของท่านทั้งหมดกว่า
1,000 ชิ้น และของที่ท่านสะสมไว้มอบให้กับรัฐบาล ของสะสมของศีว์เปยเหวินนั้น
ประกอบด้วยลายสือศิลป์และภาพวาดของศิลปินที่มีชื่อเสียงทุกยุคทุกสมัยนับตั้งแต่สมัย
ราชวงศ์ถังจนกระทั่งถึงปัจจุบันนอกจากนี้ยังมีหนังสือ ภาพถ่าย อักษรที่ลอกจากศิลา
จารึก รวมทั้งหมดเป็นของสะสมกว่า 10,000 ชิ้น



ภาพ ‘‘ม้า’’ วิ่งอย่างอิสระที่ท่านชอบวาด



          ศีว์เปยหง เป็นจิตรกรที่ผ่านเส้นทางชีวิตมาด้วยความยากลำบาก ท่านถือ
กำเนิดในครอบครัวของจิตรกรยากจนที่ตำบลเล็กๆ ในอำเภออี๋ซิง มณฑลเจียงซู
เมื่อครั้งยังเด็กศีว์เปยหงมีชีวิตอยู่ท่ามกลางความหิวโหยและหนาวเหน็บในปีค.ศ.1919
ศีว์เปยหงได้มีโอกาสไปศึกษาทางด้านวิจิตรศิลป์ที่ยุโรป โดยได้ไปศึกษาที่ปารีสและ
เบอร์ลินเป็นเวลานาน 8 ปี ศีว์เปยหงมีทัศนะต่องานศิลปะว่า ‘‘ต้องธำรงรักษาส่วนที่ดี
ของจิตรกรรมแบบโบราณเอาไว้ ปรับปรุงในส่วนที่ด้อย และรับเอาเทคนิควิธี
การวาดภาพแบบตะวันตกเข้ามาผสมผสาน
’’ซึ่งศีว์เปยหงเองก็ปฏิบัติตามความคิด
นี้อย่างเต็มที่ ศีว์เปยหงนั้นเป็นนักวิชาการทางศิลปะที่มีความสามารถอย่างยิ่ง ท่านเคย
กล่าวว่า‘‘งานให้การศึกษาวิชาการด้านศิลปะนั้นเป็นงานหลักของท่าน ส่วนการสร้าง
ผลงานนั้นเป็นงานรอง” ท่านตระหนักดีว่า การฟื้นฟูศิลปะของชาตินั้นเป็นภารกิจที่ยิ่ง
ใหญ่และต้องใช้ความพยายามอีกหลายชั่วคน

         อนุสรณ์สถานแห่งนี้ได้เก็บผลงานชั้นเยี่ยมของศีว์เปยหงไว้มากมาย มีทั้ง
ภาพวาดสีน้ำมันภาพวาดแบบจีนและภาพสเก็ตซ์ ภาพวาดเหล่านี้แสดงออกถึงอารมณ์
จิตใจที่รักในปิตุภูมิ สดุดีประชาชนและจินตนาการอันกว้างไกลศีว์เปยหงมีความชำนาญ
ในการวาดภาพม้า ม้าที่ท่านวาดนั้นไม่มีอานไม่มีเชือกและไม่มีคนขี่ เป็นม้าที่วิ่งอยู่ด้วย
ท่วงท่าที่อิสระ ซึ่งสะท้อนให้เห็นความใฝ่ฝันถึงอิสรภาพของท่าน นอกจากนี้ท่านยังชอบ
วาดไก่ตัวผู้ ไก่ของท่านไม่ใช่ไก่ชนที่พ่ายแพ้แก่คู่ต่อสู้ ไม่ใช่ไก่ตัวผู้ที่หยิ่งผยองอวดดี
หากแต่เป็นไก่ตัวผู้ที่โก่งคอขันในยามอรุณรุ่ง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความใฝ่ฝันของท่าน
ที่มีต่ออนาคตอันสดใสของปิตุภูมิ



ภาพเหมือนรพินทรนาถ ฐากูร วาดโดยศีว์เปยหง
เมื่อครั้งที่ไปเยี่ยมรพินทรนาถ ฐากูรที่อินเดีย



       ภายในอาคารของอนุสรณ์สถานศีว์เปยหงยังมีภาพวาดและเอกสารต่างๆ มากมาย
ซึ่งแนะนำเรื่องราวและประวัติของศีว์เปยหง ห้องทำงานและห้องวาดภาพจัดสร้างให้เหมือน
เดิมทุกอย่างซึ่งได้แสดงถึงความเรียบง่ายในการดำรงชีวิตและความเอาจริงเอาจังต่อการ
ค้นคว้าทางวิชาการด้านวิจิตรศิลป์ของศีว์เปยหง จิตรกรเอกของจีน



ภาพ ‘‘ไก่ขันรับอรุณ’’

 


พิมพ์   อีเมล