บ้านสื้อเหอย่วนเป็นสถาปัตยกรรมพื้นบ้านของปักกิ่งซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัว สื้อเหอย่วนเกิดขึ้นพร้อมกับตรอกซอกซอยในสมัยราชวงศ์หยวน เมื่อปี ค.ศ. 1276 หลังจาก เมืองต้าตู (เมืองหลวงใหญ่) สร้างเสร็จแล้ว แม้ว่าวางผังเมืองอย่างเป็นระบบระเบียบ อาคารสิ่งก่อสร้างถูกสร้างขึ้นอย่างใหญ่โตรโหฐานและงามสง่า แต่อาคารและสิ่งก่อสร้างเหล่านั้นล้วนเป็นสิ่งก่อสร้างของราชสำนักทั้งสิ้น ขาดแคลนบ้านเรือนของชาวบ้าน พระเจ้ากุบไลข่านแห่งราชวงศ์หยวนจึงมีพระบรมราชโองการให้ชาวบ้านส่วนหนึ่งจาก เมืองเก่าจงตู (เมืองหลวงกลาง ที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองปักกิ่งปัจจุบัน) ย้ายไปอยู่ที่เมืองต้าตู ส่วนข้าราชการผู้เรืองอำนาจและพ่อค้าก็เริ่มสร้างบ้านเรือนในสถานที่ที่ดี บ้านสื้อเหอย่วนซึ่งเป็นบ้านพักอาศัยของชาวปักกิ่งก็ปรากฏขึ้นตั้งแต่นั้นมา “สื้อเหอย่วน” หรือที่เห็นเป็นบ้านสี่เหลี่ยม บ้านชั้นเดียวในกรุงปักกิ่งยังมีให้เห็นอยู่มากมายโดยเฉพาะแถบชานเมือง ที่มีชื่อว่า “สื้อเหอย่วน” ก็ด้วยมีโครงสร้างที่มีลักษณะพิเศษเฉพาะ ตัวบ้านทั้ง 4 ด้านที่ครอบครัวพักอาศัยอยู่ด้วยกันจะหันหน้าเข้าหากันล้อมรอบลานบ้านที่อยู่ตรงกลาง มีประตูใหญ่แห่งเดียว ภายในถัดจากประตูมีผนังเป็นฉากกั้นประตูใหญ่ ถึงแม้ว่าประตูใหญ่เปิดอยู่ผู้คนที่อยู่ภายนอกตัวบ้านก็ยากที่จะมองเห็นภายในบ้าน “สื้อเหอย่วน” ได้รับอิทธิพลการออกแบบก่อสร้างจากวัฒนธรรมทางสถาปัตยกรรมที่สืบทอดกันต่อๆ มาของจีน ตั้งแต่การเลือกทำเลการก่อสร้างตลอดจนขนาดบ้านเรือนแต่ละหลังต่างก็ปฏิบัติตาม “ทฤษฎีพื้นภูมิ” จากตำแหน่งของประตูใหญ่ ก็มองเห็นทฤษฎีพื้นภูมิโดยทั่วไป บ้านเรือนที่ดีต่างก็ตั้งอยู่ทางเหนือหันหน้าสู่ทางใต้ เรียกว่า “เจิ้งฝาง” ที่จริงก็คือบ้านพักทางเหนือ ส่วนประตูใหญ่เปิดอยู่ทางมุมตะวันออกเฉียงใต้ เพราะตาม “ผังภูมิเอกลักษณ์ 8” ทางเหนือเป็นทางน้ำ ทางตะวันออกเฉียงใต้เป็นทางลม ความหมายก็คือผู้อยู่อาศัยต้องสร้างบ้านเรือนให้เหมาะแก่ทิศทางลมน้ำ เพื่อความอยู่ดีมีสุข และเพื่อความมีศิริมงคลแก่ผู้อยู่อาศัย
 ห้องพักเจิ้งฝาง (ขวา ) ห้องด้านตะวันตกและดอกไม้ที่ปลูกในศาลากลมในบ้านสื้อเหอย่วน
ถ้าเป็นบ้านของขุนนางชั้นผู้ใหญ่หรือข้าราชการผู้เรืองอำนาจ ประตูใหญ่จะสร้างที่เส้นแนวกลางของบ้านสื้อเหอย่วน ถ้าบ้านตั้งอยู่ทางใต้ของตรอก ประตูใหญ่จะเปิดอยู่ทางมุมตะวันตกเฉียงเหนือจึงจะถือว่าเป็นตำแหน่งที่เป็นศิริมงคล ตาม “ทฤษฎีพื้นภูมิ” แบบโบราณแสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาของชาวปักกิ่งรุ่นก่อนๆ ที่สร้างบ้านสื้อเหอย่วนให้เหมาะแก่ภูมิอากาศและภูมิประเทศของปักกิ่ง เนื่องจากฤดูหนาวอากาศของปักกิ่งหนาว ฤดูร้อนก็มีพายุ บ้านสื้อเหอย่วนจะช่วยให้อยู่อย่างอบอุ่นในฤดูหนาวและแน่นหนาพอที่จะกันพายุในฤดูร้อน ไม่ว่าบ้านสื้อเหอย่วนขนาดใหญ่หรือเล็กตัวบ้านทั้ง 4 ด้านล้วนหันหน้าเข้าสู่ลานกลางบ้าน ส่วนกำแพงบ้าน บันได ฐานราก สิ่งประดับบนประตูหน้าต่างก็ค่อนข้างพิถีพิถัน บ้านสื้อเหอย่วนที่มีลานบ้าน 1 ลาน เรียกว่า “สื้อเหอย่วน 1 ประตู” ถ้ามีลานบ้านลานที่ 2 จะเรียกว่า “สื้อเหอย่วน 2 ประตู” โดยทั่วไปสื้อเหอย่วน 1 ประตู และสื้อเหอย่วน 2 ประตูมีลานบ้านขนาดกลางหรือขนาดเล็ก ส่วนสื้อเหอย่วนขนาดใหญ่นั้นมีห้องพักกว้างใหญ่ ที่หน้าห้องเจิ้งฝางมีระเบียงด้วย ประตูที่สองมีระเบียงไปสู่ลานบ้านที่ 1 บ้านข้าราชการชั้นผู้ใหญ่และทำเนียบรัฐบาลก็เป็นแบบสื้อเหอย่วนขนาดใหญ่ บ้างก็เป็นสื้อเหอย่วน 7 ประตู บ้างก็เป็นสื้อเหอย่วน 9 ประตู ที่ห้องเจิ้งฝางทั้งสองข้างยังสร้างห้องด้านตะวันออกและห้องด้านตะวันตกด้วย และยังมีสวนส่วนตัวอีกด้วย ภาษาจีนกลางเรียกบ้านแบบนี้ว่า “เซินไจ๋ต้าย่วน”
 ลานบ้านทางตะวันตกของสื้อเหอย่วน
โดยทั่วไป ห้องทางเหนือของบ้านสื้อเหอย่วนเป็นห้องเจิ้งฝาง (บางทีก็เรียกว่า ซ่างฝาง) ส่วนห้องพักด้านตะวันออกและตะวันตกเรียกว่า เซียงฝาง ระหว่างเจิ้งฝาง เซียงฝางและประตูที่ 2 ได้สร้างระเบียงเป็นทางเดิน เนื่องจากระเบียงนี้มีรูปทรงโอบล้อมเช่นเดียวกับสองมือโอบ ภาษาปักกิ่งเรียกท่าสองมือโอบว่า “เชาโส่ว” ระเบียงชนิดนี้จึงมีชื่อเรียกว่า “ระเบียงเชาโส่ว” เพราะระเบียงนี้เป็นทางเดินเชื่อมบ้านพักชั้นในกับบ้านพักชั้นนอกให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
 ระเบียงเชาโส่ว
บ้านสื้อเหอย่วนแห่งกรุงปักกิ่ง โดยทั่วไปมีผู้พักอาศัยอยู่ด้วยกันหลายชั่วอายุคน และเนื่องจากได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมระบบศักดินา ผู้อาศัยอยู่ด้วยกันจึงเคารพระบบอาวุโส เช่น ห้องเจิ้งฝางเป็นที่พักของผู้อาวุโส ห้องกลางเป็นห้องนั่งเล่นที่ชุมนุมสำหรับสมาชิกในครอบครัว ต้อนรับแขก จัดงานวันฉลองเทศกาล และเซ่นไหว้บรรพบุรุษ ส่วนห้องกลางสองห้องด้านในเป็นห้องนอน คนรุ่นหลังพักอยู่ห้องตะวันออกหรือห้องตะวันตกหรือไม่ก็พักในลานบ้านอีกชั้นหนึ่ง ส่วนห้องด้านใต้เป็นห้องของแขก ห้องอ่านหนังสือหรือห้องพักของคนใช้ การจัดวางห้องพักจะจัดอย่างเป็นระบบตามรูปแบบการก่อสร้างที่ยึดถือกันมาแต่โบราณ จะจัดสับสนไม่ได้ บันไดของบ้านสื้อเหอย่วนใช้หินสีเขียวอ่อน หากเป็นบ้านผู้มีอันจะกินก็ใช้หินอ่อนสีขาว ขอบหน้าต่างประตูและเสาระบียงทาสีแดงและสีเขียว เสาบ้านทาสีแดง ชายคาระเบียงก็ทาสีแดง ส่วนหน้าต่าง ประตู เสาไม้ที่ระเบียงและประตูชั้นที่ 2 มักจะทาสีเขียวเป็นส่วนใหญ่ ภาพวาดหลากสีไม่ว่าในห้องหรือบนระเบียงล้วนเป็นภาพทิวทัศน์ ธรรมชาติ ภูเขา แม่น้ำ นก ปลา และนิทานประวัติศาสตร์ หรือเนื้อหาเกี่ยวกับการเซ่นไหว้ขอความเป็นศิริมงคล ฯลฯ ทั่วทั้งลานบ้านสื้อเหอย่วนมีความผสมกลมกลืนกันระหว่างสีแดงและสีเขียวที่ทำให้ดูงามสง่าและภูมิฐาน โดยเฉพาะบานประตูชั้น 2 จะเห็นงานแกะสลักที่แสดงให้เห็นศิลปกรรมอันงดงาม
บ้านสื้อเหอย่วนเป็นสิ่งก่อสร้างของกรุงปักกิ่งที่มีลักษณะเฉพาะที่สืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่นจนถึงปัจจุบันเป็นเวลาหลายร้อยปีมาแล้ว แม้ว่าปัจจุบันปักกิ่งได้สร้างตึกสูงระฟ้ามากมาย แต่ว่าชาวปักกิ่งรุ่นเก่าๆ ยังคงอาลัยอาวรณ์บ้านสื้อเหอย่วนนี้อยู่
ผู้ที่เคยเติบโตมากับบ้านสื้อเหอย่วนแล้วย้ายมาอยู่อาคารสูงในกรุงปักกิ่งปัจจุบัน คงจะรู้สึกถึงความแตกต่างของบรรยากาศทางวัฒนธรรมระหว่างสื้อเหอย่วนบ้านสี่เหลี่ยมในอาคารสูงสมัยใหม่ได้เป็นอย่างดี
 สภาพภายนอกบ้านสื้อเหอย่วน
 ทางเข้าบ้านสื้อเหอย่วน ในซอยหลี่ซื่อ มีซุ้มประตูหลากสีที่งดงาม
|