เครื่องสังคโลก

เครื่องสังคโลก

 

เครื่องสังคโลก...จุดกำเนิดสายสัมพันธ์

โดย ชัชวนันท์  สันธิเดช
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
http://artdragon.hi5.com

รองแชมป์ "แฟนพันธ์แท้" ความสัมพันธ์ไทย-จีน

  

      หากใครได้ติดตามเรื่องความสัมพันธ์ไทย-จีน มาบ้างแล้ว อาจพอทราบว่าความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับประเทศอื่นๆเป็นไปในลักษณะบรรณาการ จีนเรียกตัวเองว่า “ จงกว๋อ ” ( Zhong Guo ) คือมองว่าตนเองเป็นศูนย์กลางของโลก ประเทศอื่นๆที่ตนคบหาไม่ใช่เพื่อน แต่เป็นประเทศราชที่ต้องก้มหัวให้จีนทั้งสิ้น

      ประเทศใกล้เคียงจีนต่างก็รู้ถึงเรื่องนี้ ฉะนั้น กษัตริย์หรือผู้นำชาติต่างๆต่างก็ต้องจัดการความสัมพันธ์ทางการทูตให้พอเหมาะพอสม ไม่เช่นนั้นหากพี่ใหญ่จีนเกิดไม่พอใจขึ้นมาเดี๋ยวจะเป็นเรื่องยุ่ง ซึ่งสยามประเทศเองก็หนีความจำเป็นตรงนี้ไม่พ้น

      หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่มีชี้ชัดว่า จีนกับไทยติดต่อสัมพันธ์กันตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นต้นมา โดยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชแห่งราชวงศ์พระร่วง เป็นกษัตริย์พระองค์หนึ่ง หากจะเรียกว่าเป็นพระองค์แรกๆของไทยที่ติดต่อกับจีนก็คงไม่ผิดนัก และในประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-จีน ก็มีเรื่องเล่าสนุกๆในยุคของพ่อขุนรามฯอยู่มากมายหลายเรื่อง

      ยกตัวอย่างเช่น การที่ช่างปั้นเครื่องปั้นดินเผาจากจีนกว่า 300 คน เดินทางมาสุโขทัย เพื่อสอนให้ช่างไทยให้รู้จักปั้นถ้วยโถโอชามตามแบบจีน ซึ่งต่อมาได้พัฒนากลายเป็นเครื่องสังคโลกอันล้ำค่า เป็นศิลปะที่ตกทอดอยู่ในแผ่นดินไทย อีกทั้งยังเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทยเรื่อยมา

 

      ในยุคนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายๆที่จีนภายใต้การนำของราชวงศ์หยวน จะยอมให้คนของตนจำนวนมากมายขนาดนั้นเดินทางออกนอกประเทศ จึงยังไม่แน่ชัดว่าช่างปั้นจีนเข้ามาในไทยได้อย่างไร มีอยู่หลักฐานหนึ่งอ้างว่า พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ถึงขนาดเคยเดินทางไปเมืองจีนด้วยพระองค์เอง พร้อมกับนำคณะช่างจีนเดินทางกลับมาสุโขทัยด้วย โดยได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระจักรพรรดิ แต่หลักฐานนี้ก็ดูขาดความน่าเชื่อถืออยู่มาก เพราะไม่มีบันทึกไว้ในหลักฐานของฝ่ายไทย รวมทั้งในศิลาจารึกก็ไม่ได้ระบุถึงเรื่องนี้ไว้แม้แต่น้อย

      ดังนั้น จึงมีผู้สันนิษฐานว่า ช่างปั้นจีนซึ่งเป็นชาวฮั่น (คนแผ่นดินใหญ่แท้ๆ) คงอพยพเข้ามาเอง เพราะต้องการหลีกหนีจากพวกมองโกลที่ปกครองประเทศอยู่ อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ยืนยันได้ก็คือ มีช่างปั้นจีนจำนวนหลายร้อยชีวิตอยู่ในเมืองไทยจริงๆ โดยช่างเหล่านี้ได้เข้ามาตั้งเตาเผาในสุโขทัยในยุคเริ่มแรก ก่อนที่พ่อขุนรามฯจะสั่งให้ย้ายไปยังเมือง สวรรคโลก หรือ ศรีสัชนาลัย ซึ่งเป็นแหล่งของดินเหนียวที่มีคุณภาพดี อยู่ห่างจากสุโขทัยออกไปประมาณ 5 กิโลเมตรเท่านั้น

      วิชาที่ช่างจีนสอนให้แก่ช่างไทย แตกต่างจากการปั้นเครื่องปั้นดินเผาแบบของไทยแต่เดิม โดยช่างจีนจะมีการ “ เคลือบน้ำยา ” ซึ่งของไทยไม่มี และมีวิธีปั้นที่ทำให้ชิ้นงานมีคุณภาพและสวยงามกว่า ดังนั้น ต้องเรียกเครื่องสังคโลกว่าเป็น “ เครื่องเคลือบ-ปั้นดินเผา ” จึงจะถูกต้อง เพราะมิใช่ “ ปั้น ” อย่างเดียว แต่ต้อง “ เคลือบ ” ด้วย

       และนี่คือภูมิปัญญาจีน ที่ถูกถ่ายทอดจาก “ ชาติพี่ ” สู่ “ ชาติน้อง ” จนกลายเป็นงานฝีมือที่เรียกว่าเครื่องสังคโลกอันล้ำค่า คำว่า “ สังคโลก ” นี้ เชื่อกันว่ามาจากคำว่า “ ซ่ง ” บวกกับ “ โก-ลก ” , ซ่ง หมายถึงราชวงศ์ซ่งของจีน ซึ่งเครื่องเคลือบปั้นดินเผาจีนได้เกิดขึ้นในช่วงนั้น, ส่วน “ โก-ลก ” แปลว่า เตาเผา, ไปๆมาๆจึงเพี้ยนมาเป็น สังคโลก ซึ่งแปลว่า “ เตาเผาของซ่ง ”

       เครื่องสังคโลกนี้ เป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของประเทศจีน ต่อมาภายหลังจักรพรรดิกุบไบลข่านสวรรคต การส่งออกของจีนต้องหยุดชะงักไป เครื่องเคลือบปั้นดินเผาจึงพลอยขาดตลาดไปด้วย ดังนั้น สุโขทัยซึ่งได้รับการถ่ายทอดศิลปะมา จึงกลายเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่แทนจีนไปโดยปริยาย พูดง่ายๆว่า เครื่องปั้นสังคโลกเป็นศิลปะที่พี่จีนเข้ามาสอนให้ แต่น้องไทยได้รับประโยชน์ไปแบบเต็มๆ

       การจัดการความสัมพันธ์กับจีนในสมัยนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เป็นเรื่องที่ผู้นำต้องใช้นโยบายอันรอบคอบและแยบยล ไม่หักหาญอย่างบ้าคลั่ง ในขณะเดียวกันก็ต้องรู้จักตักตวงประโยชน์จากฝ่ายตรงข้าม กล่าวคือ แม้ว่าต้องพินอบพิเทาต่อพี่ใหญ่ แต่ก็ต้องรู้จักใช้อิทธิพลของเขามาเป็นประโยชน์ต่อตนเอง

      พ่อขุนรามคำแหงเล็งเห็นแล้วว่า หากจะแผ่อิทธิพลขยายดินแดนออกไปให้กว้างไกลในย่านนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการสนับสนุนจากจีน พระองค์จึงดำเนินนโยบายผูกมิตรดังกล่าว ดังนั้น หากจะกล่าวว่า “ พ่อขุนรามคำแหงมหาราช เป็นกษัตริย์ผู้เปิดตำนานความสัมพันธ์ไทย-จีนขึ้นเป็นครั้งแรก ” ก็คงจะไม่ผิดนัก

     และเครื่องสังคโลก งานฝืมือที่พระองค์ทรงโปรด ก็คือสัญลักษณ์ของความสัมพันธ์ไทย-จีน ยุคแรกเริ่ม นั่นเอง !!

 

Date

23 เมษายน 2564

Tags

แผ่นดินมังกร