ประธานเหมาบนธนบัตร

ประธานเหมาบนธนบัตร

 

ประธานเหมาบนธนบัตร

เหวิน เหวิน ณ สวนชั่งชุน
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

  

      วันหนึ่งในวิชาการอ่านและการเขียนได้อ่านบทความบทหนึ่ง ซึ่งนำไปสู่การพูดคุยกันในห้อง บทความนั้นมีใจความว่า

      “ ในห้องหนังสือของอู๋จู้กวงนักเขียนชื่อดังของจีน แขวนธนบัตร 20 ปอนด์ที่ใส่กรอบไว้อย่างสวยงาม ธนบัตร 20 ปอนด์ก็ไม่แปลกอะไร แต่ที่สำคัญคือบนธนบัตรใบนั้นมีรูปเช็คสเปียร์เต็มตัว ท่านอู๋พูดด้วยความหดหู่ใจว่า นี่แสดงว่าคนอังกฤษให้ความสำคัญกับวรรณคดีและศิลปะมาก ประเทศจีนตามประวัติ บนธนบัตรมีเพียงรูปของผู้นำประเทศหรือไม่ก็ชาวนา คนงานและทหาร ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่นักเขียน นักวิทยาศาสตร์ นักการศึกษาฯ จะได้มีโอกาสออกมาอวดโฉมบนธนบัตรบ้าง ”

      อาจารย์ชาวจีนวัย 30 ต้นๆ ของข้าพเจ้าซึ่งไม่นึกนิยมประธานเหมาสักเท่าไหร่พูดด้วยความถอดถอนใจไม่แพ้ท่านอู๋ว่า ธนบัตร 100 หยวนเดิมสีฟ้าเทาที่มีรูปเหมาเจ๋อตง โจวเอินไหล หลิวเส้าฉีและจูเต๋อก็ยังพอรับได้ หรือที่อาจารย์ชื่นชอบคือ ธนบัตร 10 หยวนเดิมที่เป็นภาพชนชาติ 56 ชนชาติที่รวมกันเป็นประเทศจีนก็ทำได้ดี แต่เหตุใดจึงมีเพียงเหมาเจ๋อตง บนธนบัตรแบบใหม่ของจีน มีประเทศไหนบ้างที่มีรูปผู้นำที่พึ่งเสียชีวิตไม่ถึง 50 ปี (เหมาเจ๋อตงเสียชีวิตในปี 1979) และยังไม่ได้พิสูจน์เลยว่าเขาได้ทำความดีหรือความชั่วมากน้อยกว่ากัน ควรค่าแก่การเชิดชูหรือไม่ นำรูปมาพิมพ์บนธนบัตร ทำไมไม่เอารูปของนักปราชญ์อย่างขงจื่อ เล่าจื่อ กวีอย่างหลี่ไป๋ ตู้ฝู่ เป็นต้น มาพิมพ์บ้าง

      จากนั้นก็เริ่มถามกันว่าแต่ละประเทศมีรูปใครบนธนบัตรบ้าง ที่ดูจะเป็นเดือดเป็นแค้นไม่แพ้อาจารย์เห็นจะเป็นเพื่อนชาวอินโดนีเซียเพราะธนบัตรของอินโดนีเซียมีรูปประธานาธิบดีซูฮาโต้โชว์หน้ามานาน พึ่งจะถูกเก็บไปเมื่อตอนสิ้นอำนาจนี้เอง

       ข้าพเจ้าเคยอ่านพบว่าเหตุที่เลือกเอารูปเหมาเจ๋อตงมาเป็นแบบบนธนบัตรสีแดงใบใหม่ นอกจากเพื่อเฉลิมฉลองการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนครบรอบ 50 ปีแล้ว ยังเพราะรูปเหมาเจ๋อตงเป็นที่คุ้นเคยของประชาชน หากมีการทำการปลอมแปลงก็จะเป็นที่สังเกตได้ง่าย ข้าพเจ้าก็ได้แต่นึกขันในเหตุผลของบริษัทผู้ออกแบบอยู่ในใจ

       ไหนๆ ก็พูดถึงเหมาเจ๋อตงแล้วก็ขอพูดต่ออีกสักหน่อย นี่ไม่ใช่ครั้งแรกและอาจารย์ท่านแรกที่พูดถึงเหมาเจ๋อตงในแง่มุมนี้ ครั้งหนึ่งในขณะที่เรียนมีการพูดถึงเหมาเจ๋อตง ข้าพเจ้าเรียกท่านว่า “ ประธานเหมา ” อาจารย์ที่สอนพูดกับข้าพเจ้าว่าทำไมเรียกสุภาพจัง เดี๋ยวนี้ไม่มีใครเรียกประธานเหมาแล้ว เรียกเพียงชื่อเหมาเจ๋อตงก็ได้

       อีกครั้งอาจารย์อีกท่านหนึ่งสอนเรื่องการเปรียบเทียบ การแบ่งหรือการประเมินการทำงานของคน โดยแบ่งเป็นความชั่วและความดี รวมเป็น10ส่วน เช่น 3, 7 หรือ 5 , 5 ปกติคนจีนมักพูดว่าการทำงานของเหมาเจ๋อตง เป็น 3, 7 คือ ทำไม่ดีแค่ 3 แต่ทำดีถึง 7 อย่างไรเสียก็ยังถือว่าสอบผ่าน แต่อาจารย์ของข้าพเจ้าพูดในทางกลับกันว่า ทำไม่ดีตั้ง 7 แต่ทำดีแค่ 3 จะสอบผ่านได้อย่างไร

       ทัศนะของคนรุ่นใหม่และปัญญาชนนั้นเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ไม่มีการคำนับรูปเหมาหรือถือสมุดปกแดงเป็นเหมือนคัมภีร์นำทางชีวิตและพร่ำสรรเสริญเหมาอีกต่อไป

Date

30 มิถุนายน 2564

Tags

คอลัมน์ประจำ