อ่านเล่มไหนก่อนหลังดี

อ่านเล่มไหนก่อนหลังดี

 

 

อ่านเล่มไหนก่อนหลังดี?

โดย ชัชวนันท์  สันธิเดช
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
http://artdragon.hi5.com

แชมป์ "แฟนพันธ์แท้" แผ่นดินมังกร ปี2007
แชมป์ "แฟนพันธ์แท้" สามก๊ก ปี2008

 

        เอาล่ะครับ หลังจากที่ผมได้แบ่งสามก๊กในเวอร์ชั่นภาษาไทยทั้งหลายทั้งปวง
ออกเป็น3 ประเภทแล้ว ต่อไปนี้ก็มาถึงคำถามสำคัญที่สุด ที่ผมไปที่ไหนก็มีน้องๆ
หนูเข้ามาถามอยู่เสมอ นั่นคือ จะเริ่มต้นอ่านสามก๊กอย่างไรดี? จะเริ่มอ่านจากชุดไหน
ของใครดี? ดังนั้นผมจะเรียงลำดับสามก๊กที่ผู้เริ่มต้นควรจะอ่าน เพื่อประโยชน์ และ
ความเข้าใจสูงสุด เรียงลำดับกันไปตั้งแต่ชุดแรก ตามนี้ครับ

“พิชัยสงครามสามก๊ก” โดย สังข์ พัธโนทัย



รายละเอียดหนังสือ ISBN: 9748632482
BARCODE:  9789748632483
สำนักพิมพ์: ธรรมชาติ

       ผมขอชี้ชัดเลยว่า นี่เป็นหนังสือเล่มแรกที่ผู้สนใจสามก๊กควรอ่าน ก่อนที่จะไปอ่าน
สามก๊กเล่มอื่นๆต่อไป
ทำไมน่ะหรือครับ? เดี๋ยวจะอธิบายให้ฟัง แต่ขอเล่านิดหนึ่งว่า
สำหรับตัวผมเองนี่คือหนังสือเกี่ยวกับสามก๊กเล่มแรกในชีวิตที่ได้อ่านเมื่อเกือบ 20 ปี
ก่อน โดยเข้าใจตามประสาเด็กๆว่า มันคือ “สามก๊ก” ในรูปแบบเต็ม พออ่านเสร็จก็ไป
โม้ให้ญาติพี่น้องฟังว่า “ผมอ่านสามก๊กจบแล้ว” ก่อนที่จะมาถึงบางอ้อทีหลังว่า นี่เป็น
เพียงส่วนหนึ่ง ของสามก๊กทั้งหมดเท่านั้น แต่มันก็เป็นการเริ่มต้นที่ดีที่สุดจริงๆครับ

      พิชัยสงครามสามก๊ก ฝีมือท่านสังข์ พัธโนทัย เป็นหนังสือเกี่ยวกับสามก๊กเล่ม
แรกๆของประเทศไทยเลยก็ว่าได้เขียนขึ้นในขณะที่อาจารย์สังข์ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกความ
สัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีนในยุคเริ่มแรก ถูกพิษการ
เมืองต้องเข้าไปอยู่ในคุก ท่านจึงฆ่าเวลาด้วยการแปลและเขียนหนังสือ โดยอาศัยที่
เพื่อนร่วมคุกของท่านนั้น มีชาวจีนที่มีความรู้ที่ต้องร่วมรับชะตากรรมโดนภัยการ
เมืองอยู่จำนวนหนึ่ง ดังนั้น หนังสือเล่มนี้ จึงถือว่ามีที่มาที่ผิดแผกแปลกประหลาด
กว่าสามก๊กเล่มไหนๆ

รูปแบบการเล่าเรื่อง โดดเด่น เข้าใจง่าย

      พิชัยสงครามสามก๊ก ใช้รูปแบบในการเล่าเรื่องแบบ “เล่าผ่านตัวละคร” กล่าวคือ
นำเอาตัวละครที่มีบทบาทสำคัญในแต่ละช่วงละตอนของเนื้อเรื่องมาจัดวางตาม
ลำดับ แล้วเล่าเรื่องราวให้สอดคล้องกับตัวละครตัวนั้นๆ โดยเมื่ออ่านตั้งแต่ตัวละคร
ตัวแรกจนถึงตัวสุดท้าย ก็จะได้เข้าใจเรื่องราวคร่าวๆของวรรณกรรมสามก๊กตั้งแต่
ต้นจนจบแม้จะไม่ครบถ้วนกระบวนความ แต่ก็รับรองว่าได้เห็นภาพกว้างๆ ได้
อรรถรส และที่สำคัญ เข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน

       หากจะกล่าวว่า “ไม่มีใครอ่านสามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ครั้งแรกแล้ว
ไม่งง”ก็คงจะไม่มีใครเถียง ในทางตรงกันข้าม หากกล่าวว่า “ไม่มีใครอ่านสามก๊กของ
สังข์ พัธโนทัยแล้วงง” ก็คงจะไม่เกินความจริงไปนัก นอกจากไม่งงแล้ว พิชัยสงคราม
สามก๊กของอาจารย์สังข์ยังเป็นแรงผลักดันให้ผู้อ่าน (อย่างน้อยก็ผมคนหนึ่งล่ะ) อยาก
รู้และแสวงหา ศึกษาเรื่องราวของสามก๊กในขั้นสูงๆต่อไป

      ผมยังแอบคิดเอาเองเล่นๆว่า เป็นไปได้ไหมที่ สามก๊ก ฉบับ วณิพก นั้นท่าน ยาขอบ
เองก็ได้รับอิทธิพลมาจากพิชัยสงครามสามก๊กของคุณสังข์เหมือนกัน สันนิษฐานจาก
การที่คุณสังข์เป็นคนแรกที่ใช้รูปแบบการเล่าเรื่องไปทีละตัวละครในลักษณะนี้ และ
ในสามก๊กฉบับ วณิพก เอง ก็มีการอ้างถึงสามก๊กของ สังข์ พัธโนทัย เล่มนี้อยู่ครั้งแล้ว
ครั้งเล่า

ชี้ชัดความบกพร่องของต้นตำรับ

       ในต้นเล่มของพิชัยสงครามสามก๊ก ได้มีการชี้ชัดถึงความวิปริตด้านข้อมูลทั้ง
หลายทั้งปวงของฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ไว้อย่างละเอียดยิบ ไม่ว่าจะเป็นข้อ
ผิดพลาดในด้านชื่อคน ชื่อสถานที่ ทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ รวมถึงความผิดพลาดแบบ
แปลกๆ เช่น ชื่อคนกลายเป็นชื่อสถานที่ ชื่อคนหลายคนแต่เรียกเป็นคนเดียว ผู้ชายแต่
คนแปลเข้าใจว่าเป็นผู้หญิงตั้งชื่อตัวละครใหม่ขึ้นมาทั้งที่ไม่มีอยู่จริง เปลี่ยนสำนวน
จีนเป็นสำนวนไทย และข้อสังเกตเบ็ดเตล็ดต่างๆอีกด้วย

       ดังนั้น หากท่านอ่านเล่มนี้เสียก่อน แน่นอนว่าจะได้รู้เท่าทันความบกพร่องของ
สามก๊กฉบับต้นตำรับ เมื่อไปอ่านฉบับพระยาพระคลังแล้ว เจออะไรงุนงงสงสัยก็นำ
มาเปรียบเทียบกัน รับรองว่าจะช่วยให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น
และไม่เข้าใจอะไรผิดๆ

ประวัติตัวละคร ละเอียดยิบ

      ในส่วน “นามานุกรมบุคคลในสามก๊ก” ท้ายเล่มของหนังสืออาจารย์สังข์ ยังระบ
ุประวัติของตัวละครแต่ละตัว ทั้งตัวละครหลักและตัวละครเล็กๆยิบย่อยระบุไว้อย่าง
ละเอียดพอสมควรซึ่งข้อมูลในส่วนนี้ เป็นข้อมูลที่ละเอียดมาก ส่วนหนึ่งเอามาจาก
จดหมายเหตุสามก๊กของเฉินโซ่ว (ตันซิ่ว) ส่วนหนึ่งเอามาจากตัววรรณกรรมเอง
ผมเห็นหนังสือหลายเล่ม เว็บไซต์หลายเว็บไซต์ที่เกี่ยวกับสามก๊กนำข้อมูลตรงนี้ไปลง
หรือนำไปดัดแปลงเล็กน้อยแล้วตีพิมพ์ โดยไม่ได้ให้เครดิตแก่ผู้เขียนแต่อย่างใดทั้ง
สิ้น ทั้งที่แท้จริงแล้ว ข้อมูลทั้งหมดก็มีที่มาจากหนังสือเล่มนี้  

       นอกจากนี้ ยังมีการเทียบชื่อตัวละครแบบสำเนียงฮกเกี้ยน (ตามแบบที่ใช้ใน
สามก๊กฉบับพระยาพระคลัง) กับสำเนียงจีนกลางซึ่งถือเป็นมาตรฐานของทางการจีน
ทำให้ผู้สนใจได้ทราบว่าตัวละครแต่ละตัวที่เราออกเสียงกันตามสำเนียงจีนฮกเกี้ยนนั้น
ในสำเนียงจีนกลางเขาออกเสียงกันว่าอย่างไร

       ตัวอย่างเช่น “โจโฉ” (สำเนียงฮกเกี้ยน) จีนกลางเรียก “เฉาเชา”, เล่าปี่ (สำเนียง
ฮกเกี้ยน)จีนกลางเรียก “หลิวเป้ย” เป็นต้น และยังมีวงเล็บเป็นชื่อตัวละครในภาษา
อังกฤษ ซึ่งสะกดเลียนแบบการออกเสียงในสำเนียงแมนดารินโดยใช้ระบบ Wade
(Wade System)แบบเดียวกับที่ใช้ในสามก๊กเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษ ของ บรีวิตต์
เทเลอร์ (จริงๆการเทียบสำเนียงในลักษณะนี้มีบันทึกอยู่ในหนังสือหลายเล่ม แต่
อาจารย์สังข์เป็นคนแรกที่ระบุไว้ในหนังสือของตน)

      น่าเสียดายว่าในสมัยที่อาจารย์สังข์ เขียนหนังสือเล่มนี้ ยังไม่เกิดระบบ พินอิน
(Pinyin)ซึ่งเป็นการแปลงเสียงในภาษาจีนกลางมาเป็นตัวอักษรละติน ทำให้ต้อง
เขียนชื่อตัวละครโดยใช้ระบบ Wade ซึ่งเป็นระบบเก่า ตัวอย่างเช่น สะกดชื่อโจโฉ
ในภาษาอังกฤษเป็น T’sao Ts’ao แทนที่จะเป็น Cao Cao แบบระบบพินอิน
ในปัจจุบัน ซึ่งน่าจะทำให้เยาวชนรุ่นหลังๆที่พอมีพื้นฐานภาษาจีนอยู่บ้างออกเสียง
ได้ง่ายขึ้น

รวบรวมชื่อสถานที่ครบถ้วน

       นอกจากชื่อตัวละครแล้ว ยังมีปทานุกรมภูมิศาสตร์สามก๊ก ระบุถึงชื่อสถานที่
ทั้งหลายในสามก๊กพร้อมคำอธิบาย โดยชี้ชัดให้เห็นว่าสถานที่ใดมีอยู่จริง สถานที่ใด
ไม่มีจริง ตัวอย่างเช่น ลกห้องโห หรือ “เนินหงส์ร่วง” ซึ่งเป็นจุดที่ บังทอง กุนซือเอก
ของเล่าปี่ เจ้าของฉายา“หงส์ดรุณ” เสียชีวิต ผมเองได้ทราบเรื่องนี้เป็นครั้งแรกใน
ชีวิตเมื่อประมาณ 15-16 ปีก่อนจากการอ่านหนังสือเล่มนี้เช่นกัน

เล่มแรกที่ต้องอ่าน

       สรุปปิดท้าย หนังสือเล่มนี้เป็น ตัวช่วย” หมายเลขหนึ่งสำหรับผู้ที่ต้องการศึกษา
เรื่องสามก๊ก โดยควรอ่านก่อนที่จะไปอ่านฉบับมาตรฐาน
แต่หากอ่านฉบับมาตรฐาน
มาแล้วได้มาอ่านเล่มนี้ ก็จะยิ่งทำให้เห็นภาพเชื่อมโยง และเข้าใจถ่องแท้มากยิ่งขึ้น

     นั่นคือเหตุผลที่ผมยกให้  พิชัยสงครามสามก๊ก ของ สังข์ พัธโนทัย
เป็นหนังสือเกี่ยวกับสามก๊กเล่มแรก ที่ผู้สนใจสามก๊กควรอ่าน อย่างไม่มี
ข้อสงสัยใดๆทั้งสิ้น !!

 

Date

27 เมษายน 2564

Tags

แผ่นดินมังกร