ช่างทำกู่ฉินผู้หลงใหลในศิลปะและเสียงดนตรี 2

ช่างทำกู่ฉินผู้หลงใหลในศิลปะและเสียงดนตรี 2

 


ช่างทำกู่ฉินผู้หลงใหลในศิลปะและเสียงดนตรี

สัมภาษณ์และภาพ : เหวินเหวิน

      

        ในวัยเด็กแม้จะยากจนแต่เขาก็มีใจรักในศิลปะและดนตรี เขาชอบแกะสลัก วาดรูป และประดิษฐ์เครื่องดนตรีเล่นเองมาตั้งแต่ตัวยังน้อย เขาจบสาขาการทำเครื่องดนตรีจีน แล้วไปทำงานแกะสลักไม้อยู่ช่วงหนึ่งก่อนที่จะมาทำกู่ฉินเป็นอาชีพ ในปัจจุบัน ฝีมือการทำกู่ฉินของเขาเป็นที่ยอมรับอย่างสูงจากนักดนตรีกู่ฉินทั่วประเทศ กู่ฉินกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต และวิธีการทำกู่ฉินก็คือวิถีชีวิตของเขานั่นเอง

ตอนที่ 2 การทำกู่ฉิน

Q: ไม้ที่ใช้ทำกู่ฉินต้องมีคุณสมบัติยังไงบ้าง

A: ปกติผมจะเลือกใช้ไม้ซันมู่ ( ) สมัยราชวงศ์หมิง (ค.ศ. 1368 - 1644 ) กับราชวงศ์ชิง (ค.ศ. 1644 - 1911 ) เพราะเป็นไม้เก่าที่แห้งตามธรรมชาติมาหลายร้อยปี เพื่อป้องกันไม่ให้กู่ฉินเปลี่ยนรูปทรง หรือแตกร้าวในภายหลัง และขณะบรรเลงเพลงจะมีเสียงที่ไพเราะ

 

Q: คุณว่าในอนาคตจะมีปัญหาเรื่องการขาดแคลนวัสดุในการทำกู่ฉินไหม

A: มีปัญหามากแน่ๆ ครับ ตอนนี้ก็มีปัญหาแล้ว เพราะว่าในอดีตการอนุรักษ์โบราณสถาน โบราณวัตถุยังไม่ดีพอ บ้านหรือวัดเก่าในสมัยราชวงศ์หมิง ราชวงศ์ชิงถูกรื้อไปเป็นจำนวนมาก ตอนนี้ไม้เก่าหายากมาก แต่สำหรับผม ตั้งแต่เริ่มทำงานผมก็เริ่มสะสมไม้เก่าๆ ที่ชาวบ้านเขารื้อทิ้งมาเก็บไว้ เพราะตั้งใจไว้ว่าสักวันหนึ่งจะต้องทำกู่ฉิน และพยายามใช้ไม้เก่าที่มีอยู่อย่างคุ้มค่าที่สุด

 

Q: ถ้าหาไม้เก่าไม่ได้แล้วจะทำยังไง

A: ในอนาคตคงต้องเอาไม้ใหม่มาประยุกต์ใช้ ปํญหาคือ ไม้ใหม่ยังเปลี่ยนรูปทรงได้ คงต้องคิดค้นวิธีทำไม้ใหม่ให้มีคุณสมบัติคล้ายกับไม้เก่า

 

Q: เคยได้ยินมาว่าไม้ที่ใช้ทำกู่ฉิน นอกจากจะใช้ไม้เก่าที่รื้อมาจากตามบ้านเรือนแล้ว ยังมีการเอาไม้โลงศพมาทำด้วย

A: ผมคัดค้านครับ หากมองในแง่ของความเป็นคน เมื่อมันเป็นโลงศพ มันก็เปรียบเหมือนกับบ้านของคนตาย คนเมื่อยังมีชีวิตอยู่ก็ทุกข์มากพออยู่แล้ว เขาตายไปยังจะไปทำให้เขาทุกข์ร้อนอีกทำไม นี่มันไร้คุณธรรมนะ อีกอย่างหนึ่ง คือเมื่อคนตายศพจะเน่าเปื่อย กลิ่นเน่าเสียต่างๆ ก็จะถูกดูดเข้าไปอยู่ในเนื้อไม้ เมื่อทำกู่ฉินและนำมาเล่นกลิ่นนี้ก็จะระเหยออกมาอยู่ตลอด ซึ่งมันจะมีผลต่อจิตใจของผู้เล่นมาก ผมคิดว่าการเล่นกู่ฉินต้องมีสภาพแวดล้อมที่ดี ทั้งกายและจิตต้องประสานกัน นอกจากนี้หากพูดตามหลักวิทยาศาสตร์แล้ว ไม้ที่ถูกฝังอยู่ใต้ดินมาเป็นเวลานาน แม้จะเป็นไม้เก่า แต่ก็ยังมีความชื้นอยู่ในเนื้อไม้ เมื่อทำเป็นกู่ฉินแล้ว พอถูกอากาศไม้ก็ยังสามารถเปลี่ยนรูป คดงอหรือแตกร้าวได้ จึงไม่เหมาะที่จะใช้ทำเป็นเครื่องดนตรีอย่างยิ่ง มีคนเคยเอากู่ฉินที่ทำจากไม้โลงศพมาให้ทำซ่อม กลิ่นมันสุดจะทนจริงๆ ครับ

 

Q: นอกจากการเลือกไม้แล้ว ทราบว่าสารเคลือบไม้ก็มีความสำคัญมากสำหรับการทำกู่ฉิน

A: ใช่ครับ สารเคลือบไม้มีความสำคัญมากในการรักษาเนื้อไม้ คนโบราณนำเขากวางมาบดให้เป็นผงละเอียดผสมกับแลคเกอร์ดิบ ตอนทาต้องทาให้หนากว่าปกติสักหน่อย เมื่อแห้งแล้วต้องขัดให้เรียบ ให้เหลือแลคเกอร์ติดอยู่บนเนื้อไม้ประมาณ 1-2 มม. ซึ่งจะเหมาะสมที่สุดในการรักษาเนื้อไม้ เหตุที่เลือกแลคเกอร์ดิบเพราะว่าทนต่อการขัดสี ผุกร่อนยาก และที่สำคัญคือทำให้กู่ฉินมีเสียงใส ผมลองใช้อย่างอื่นแทนแลคเกอร์ดิบ อย่างเช่นแลคเกอร์สังเคราะห์ แต่คุณภาพเสียงที่ออกมาไม่ดี จึงต้องหันกลับมาสู่สิ่งดั้งเดิมที่คนโบราณคิดค้นขึ้นมา

เล่ากันว่าเมื่อก่อนในกู้กง (พระราชวังต้องห้าม) มีกู่ฉินสมัยราชวงศ์ถังถูกแขวนลืมไว้ ปรากฎว่าหลังคารั่ว กู่ฉินจึงถูกแขวนตากฝนอยู่ที่ฝาผนังโดยไม่มีใครสนใจใยดี แต่เพราะแลคเกอร์ดิบกับเขากวางผงนี่แหละที่ช่วยรักษาให้กู่ฉินไม่เสียหาย และกลายมาเป็นวัตถุโบราณที่มีคุณค่ามากของจีนในปัจจุบัน

 

Q: รบกวนคุณช่วยอธิบายวิธีการทำกู่ฉินอย่างคร่าวๆ

A: ได้ครับ กู่ฉินประกอบขึ้นจากไม้แผ่นใหญ่ 2 แผ่น แผ่นบนจะทำให้โค้ง แผ่นล่างจะเป็นเหลี่ยม ก่อนอื่นต้องนำไม้แผ่นบนมาวาดแบบก่อนว่าต้องการแบบไหน จากนั้นก็ไสด้านนอกของไม้แผ่นนี้ให้โค้ง ขูดเนื้อไม้ด้านไหนออก จากนั้นก็ทำไม้แผ่นล่าง นำไม้ทั้ง 2 แผ่นมาประกบโดยทากาวแล้วใช้เชือกมัดให้ติดกัน จากนั้นติดฮุย (จุดบอกตำแหน่ง ซึ่งส่วนใหญ่จะทำจากเปลือกหอย กระเบื้องเคลือบหรือเงิน) ติดไม้ส่วนประกอบอื่นๆ ทาแลคเกอร์ดิบที่ผสมกับผงเขากวางเคลือบไว้ แล้วเอาเข้าไปอบที่อุณหภูมิประมาณ 75-85 องศาเซลเซียสจนแห้ง แล้วทาซ้ำอีกประมาณ 5-6 ชั้น นำมาขัดและขึ้นสาย ซึ่งใช้เวลารวม 3 เดือนจึงจะเสร็จ

 

Q: อย่างนี้แต่ละเดือนคุณทำกู่ฉินได้สักกี่ตัว

A: โรงงานของผม เน้นวิจัยและทำกู่ฉินคุณภาพระดับกลางและสูง แต่ละเดือนทำกู่ฉินได้ประมาณ 10 ตัว เราทำไม่ได้มากเพราะอาศัยแรงงานคนและเน้นคุณภาพเป็นหลัก

 

Q: ลักษณะและแบบของกู่ฉินมีความหมายอะไรเป็นพิเศษไหม

A: กู่ฉินที่เราเห็นในปัจจุบันนี้กับเมื่อ 3,000 ปีที่แล้วแตกต่างกันน้อยมาก คนโบราณคิดประดิษฐ์กู่ฉินโดยการนำเอาจักรวาลเข้ามารวมกันอยู่ในตัวกู่ฉิน คนจีนเชื่อว่า “ แผ่นฟ้าโค้ง ผืนดินเหลี่ยม ” เมื่อประดิษฐ์กู่ฉินก็ทำให้ไม้แผ่นบนโค้งเปรียบกับแผ่นฟ้า ไม้แผ่นล่างจะเป็นเหลี่ยมเปรียบได้กับผืนดิน ความยาวของกู่ฉินคือ 3 ฉื่อ ( ) 6 ชุ่น ( ) 5 เฟิน
( ) ( ประมาณ 125 ซม . ) เปรียบดั่ง 365 วันใน 1 ปี กว้าง 6 ชุ่น ( ประมาณ 20 ซม .) เปรียบดังทิศทั้ง 6 หนา 2 ชุ่น ( ประมาณ 6 ซม .) เปรียบดังหยินและหยาง
( ) นอกจากนี้ ฮุยทั้ง 13 จุด คือเดือนทั้ง 12 บวกกับเดือนอธิกสุรทิน มีส่วนที่ทำให้เกิดเสียงอยู่ 2 ช่อง เรียกว่าสระมังกรกับสระหงส์

ส่วนแบบของกู่ฉินที่ตกทอดมาถึงปัจจุบันนั้นมีอยู่ 51 แบบ ซึ่งเรียกตามชื่อของนักปราชญ์ บัณฑิตหรือกษัตริย์โบราณ

 

Q: คุณมีแบบของกู่ฉินที่ชอบเป็นพิเศษไหม

A: ผมชอบแบบจ้งหนี (ขงจื้อ) กับเจียวเยี่ย (ใบตอง) แบบจ้งหนีเป็นตัวแทนของลัทธิหญู (ขงจื้อ) ดูจากรูปทรงนั้นเรียบ แต่แฝงไว้ซึ่งความหนักแน่น ส่วนแบบเจียวเยี่ยเป็นลักษณะการแสวงหาสุนทรียะอย่างหนึ่ง รูปทรงที่โค้งเว้านั้นต้องคำนึงถึงผลที่มีต่อเสียง ซึ่งทำให้สวยและมีเสียงไพเราะด้วยนั้นยากมาก


แบบจ้งหนี (ขงจื๊อ)


แบบเจียวเยี่ย (ใบตอง)

Q: ได้ข่าวว่าคุณกำลังทำกู่ฉิน 100 แบบเพื่อจัดแสดงนิทรรศการ

A: ใช่ครับ วางแผนไว้ว่าปีหน้า (ค.ศ. 2005 ) จะจัดนิทรรศการศิลปะการทำกู่ฉินที่หอศิลป์แห่งชาติจีน และถ้าเป็นไปได้ก็อยากจะจัดนิทรรศการในต่างประเทศด้วย จริงๆ แล้วผมจะทำแค่ 99 แบบ ไม่ใช่ 100 แบบ เพราะคนเรานั้นไม่สมบูรณ์พร้อม ซึ่งผมเองก็เช่นกัน ต้องเหลือใจไว้สำหรับแสวงหา โดยผมจะทำตามแบบโบราณที่ตกทอดมา 51 แบบ และคิดค้นแบบใหม่ๆ ขึ้นอีก 48 แบบ เหลือไว้อีก 1 แบบ เพื่อเป็นกู่ฉินในใจที่ผมจะแสวงหาตลอดไป ด้วยความพยายามอย่างสุดความสามารถจึงจะทำกู่ฉินแบบสุดท้ายนี้สำเร็จออกมาได้

 

Q: แบบใหม่ๆ ที่คุณคิดค้นขึ้นได้แนวคิดมาจากอะไรบ้าง

A: ส่วนใหญ่ก็จะสอดคล้องกับวัฒนธรรมดั้งเดิมของจีน อย่างเช่น เลียนแบบ ฉง (ภาชนะใส่อาหารโบราณ) ซึ่งในสมัยโบราณเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจ มีลักษณะโค้งเป็นตัวแทนฟ้า เหลี่ยมเป็นตัวแทนดิน มีหลายชั้นแสดงถึงระดับชั้นในสังคม ซึ่งยังไม่มีใครออกแบบกู่ฉินลักษณะนี้ออกมา หรือเลียนแบบมีดและดาบของยุคก่อนราชวงศ์ฉิน (ก่อนค.ศ. 221 ) ดังนั้นแบบที่คิดสร้างสรรค์ออกมาใหม่ต้องสอดประสานกับแนวคิดของวัฒนธรรมจีนโบราณ ในเวลาเดียวกันก็ต้องมีความรู้เรื่องโครงสร้างของกู่ฉิน ก่อนอื่นเสียงที่ออกมาต้องไพเราะก่อน จากนั้นจึงจะมาคำนึงถึงรูปร่างภายนอกของมัน เมื่อคนดูแล้วก็จะยอมรับว่านี่คือกู่ฉิน ที่ทั้งสวยและมีเสียงที่ไพเราะด้วย หากรูปแบบภายนอกสวยแต่เสียงไม่ดี กู่ฉินตัวนั้นก็แทบจะไร้ค่าเลย

Q: คุณเคยบอกว่าคนโบราณทำกู่ฉินได้สอดคล้องกับหลักวิทยาศาสตร์อย่างมาก ทั้งๆ ที่เขาไม่มีเครื่องไม้เครื่องมืออย่างในปัจจุบัน

A: ก่อนอื่นต้องยอมรับว่าคนจีนมีความเข้าใจในศิลปะและความงามที่ลึกซึ้ง ไม่เพียงแต่รูปลักษณ์ภายนอก ยังรวมถึงเรื่องความไพเราะของเสียง

การทำกู่ฉินเกิดจากการสั่งสมประสบการณ์รวมเข้ากับความเข้าใจในความงามของคนจีนโบราณ แรกเริ่มที่ทำอาจจะไม่ดีนัก แต่คนโบราณมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าจะต้องทำให้กู่ฉินมีรูปทรงงดงาม มีเสียงที่ไพเราะ ด้วยความพยายามของคนในแต่ละยุคสมัยกว่า 3000 ปี ผ่านการประดิษฐ์ คิดค้น ทดลองมาอย่างยาวนานจนถึงสมัยราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 618 - 907 ) เป็นยุคที่กู่ฉินมีคุณภาพเสียงที่ดีมาก แต่ผมคิดว่าสมัยราชวงศ์ซ่ง (ค.ศ. 960-1279 ) เป็นยุคทองของกู่ฉิน

คนปัจจุบันเพียงแต่นำเอาหลักวิทยาศาสตร์เข้ามาตรวจสอบ พิสูจน์และอธิบายว่ากู่ฉินที่คนโบราณประดิษฐ์ตรงไหนสอดคล้องกับวิทยาศาสตร์บ้างก็เท่านั้นเอง แต่จริงๆ แล้วการเกิดขึ้นของกู่ฉินมีเหตุและผล มีที่มาที่ไปในตัวมันเอง แน่นอนว่ามีบางจุดที่คนรุ่นหลังยังสามารถพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นไปได้อีก

 

Q: ทฤษฎีการทำกู่ฉินกับทฤษฎีการทำเครื่องดนตรีตะวันตกเหมือนกันไหม

A: หากดูเผินๆ จะรู้สึกว่าทฤษฎีการทำกู่ฉินตรงข้ามกับทฤษฎีของตะวันตก เพราะคนส่วนใหญ่มองไม่ทะลุ ไม่เข้าใจ แต่จริงๆ แล้วหากเทียบกับทฤษฎีการสั่นสะเทือนของเสียงของตะวันตกแล้วจะเห็นว่าเป็นเรื่องเดียวกัน

กู่ฉิน 7 สายจะเรียงจากเสียงต่ำไปหาเสียงสูง (จากด้านนอกเข้าด้านใน) เสียงต่ำสายจะหนาเมื่อดีดแล้วแรงสั่นสะเทือนก็จะมาก ในขณะที่เสียงสูงสายจะบางแรงสั่นสะเทือนหลังจากดีดจะน้อยกว่า ตามหลักการทำเครื่องดนตรีตะวันตก แผ่นไม้ส่วนที่ขึ้นสายเสียงต่ำควรจะทำให้บาง เพื่อให้เสียงสั่นสะเทือนได้ดี และส่วนที่ขึ้นสายเสียงสูงควรทำให้หนา เพื่อป้องกันเสียงแทรก

แต่ปรากฏว่าหลักการทำกู่ฉิน ส่วนที่ขึ้นสายเสียงต่ำกลับหนา และส่วนที่ขึ้นสายเสียงสูงนั้นบาง ซึ่งตรงนี้เองที่คนมักมองว่าตรงข้ามกับทฤษฎีของตะวันตก ทั้งนี้เพราะส่วนที่ขึ้นสายเสียงต่ำที่ว่าหนานั้นบางพอสำหรับขึ้นสายเสียงต่ำแล้ว และส่วนที่ขึ้นสายเสียงสูงที่ว่าบางนั้นก็หนาพอสำหรับขึ้นสายเสียงสูงแล้วเช่นกัน ซึ่งหากทำความเข้าใจอย่างนี้ก็ไม่ได้ขัดแย้งกับทฤษฎีของตะวันตก

จริงๆ แล้วเรื่องการสั่นสะเทือนของเสียงกู่ฉินไม่ใช่เพียงแต่แผ่นไม้ สายและอากาศเท่านั้นที่สั่น ยังต้องอาศัยการสั่นของตัวกู่ฉิน คือ ไม้แผ่นบนและไม้แผ่นล่างต้องสั่นสะเทือนด้วย ต่างจากเครื่องดนตรีชนิดอื่นๆ ที่จะอาศัยย่องทำให้เกิดการสั่นสะเทือนไปยังตัวไม้

การทำรูปทรงกู่ฉินให้สวยนั้นไม่ยาก แต่การจะทำให้กู่ฉินมีเสียงที่ไพเราะกลมกลืนกันนั้นยากมาก อาจพูดได้ว่า กู่ฉินเป็นการประสานกันของความขัดแย้งอย่างลงตัว

 

Q: ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่มีสอนในวิทยาลัย ต้องอาศัยฝึกฝนและเรียนรู้ด้วยตนเอง

A: ที่วิทยาลัยจะสอนระบบความคิด ทฤษฎีการทำเครื่องดนตรี ทฤษฎีการเกิดเสียง ขั้นตอนการทำ ซึ่งเป็นเพียงทฤษฎี โดยนักศึกษาต้องลงมือปฏิบัติเอง ในทุกๆ ขั้นตอนที่ลงมือทำจะค้นพบและได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ตลอดจนเมื่อใจของเราเกิดความตระหนักรู้แล้วนั่นแหละ เมื่อนั้นเราก็จะทำกู่ฉินออกมาได้ดี แต่ความตระหนักรู้ของเราต้องเป็นที่ยอมรับของคนอื่นด้วยนะจึงจะเรียกว่าประสบความสำเร็จ

จริงๆ แล้วสิ่งต่างๆ ที่เราใช้ชีวิตอยู่ด้วยรอบตัวของเราและสิ่งต่างๆ ที่มีความหมายต่อชีวิตของคนเราต่างก็ต้องอาศัยใจเข้าไปทำความตระหนักรู้มันทั้งสิ้น การใช้ชีวิตหรือแม้กระทั่งการทำกู่ฉินต่างมี 2 ภาวะ หนึ่งคือภาวะของความเป็นเหตุเป็นผล สองคือภาวะของความเป็นศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นการแพทย์ วิถีการชงชา การเล่นกู่ฉิน เขียนอักษรจีน วาดภาพ รวมทั้งการทดลองทางวิทยาศาสตร์ต่างก็มีภาวะที่สูงสุดซึ่งก็คือภาวะของความเป็นศิลปะนั่นเอง

สำหรับกู่ฉินเพื่อให้เข้าสู่ภาวะที่สูงที่สุดนี้ ช่างทำกู่ฉินต้องบ่มเพาะในเรื่องศิลปะและวัฒนธรรม สามารถแยกแยะว่าเสียงที่ไพเราะเป็นอย่างไร จึงจะเข้าใจถึงความงามของรูปทรง ความไพเราะของเสียง และต้องพยายามไปให้ถึงความงามเหล่านี้

ไม่ว่าคนอื่นจะทำอย่างไร แต่ผมยังยึดวิธีการทำแบบดั้งเดิมเป็นหลัก แล้วประสานความเข้าใจของผมเข้าไป ใช้วิชาการทำเครื่องดนตรีที่ได้เรียนมาประยุกต์ใช้ เพื่อให้ได้วิธีการทำกู่ฉินที่สมบูรณ์ในแบบของผม

Q: สายของกู่ฉินมี 2 แบบ คือแบบที่ทำจากเส้นไหม กับแบบที่ทำจากเหล็ก (แล้วใช้ไนล่อนหุ้มไว้) การใช้สายที่แตกต่างกันมีผลต่อการทำกู่ฉินไหม

A: แตกต่างกันแน่นอนครับ คำถามนี้เป็นคำถามที่ตอบยากมากเหมือนกัน เพราะตอนนี้คนหันมาสนใจสิ่งของดั้งเดิมมากขึ้น แต่ก็ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดได้ง่าย ซึ่งคนส่วนใหญ่เห็นว่าของเก่าดั้งเดิมควรจะอนุรักษ์ไว้ไม่ไปเปลี่ยนแปลงมัน หากไปเปลี่ยนแปลงมันแม้เพียงเล็กน้อยก็ถือว่าเป็นปัญหา ไม่สมควร ไม่เหมาะสม ซึ่งผมอยากตั้งข้อสงสัยต่อแนวคิดอย่างนี้เป็นพิเศษ

กลับมาเรื่องสายที่ทำจากเส้นไหมกับที่ทำจากเหล็ก ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่ามันคือสิ่งที่ทำให้เกิดเสียง เพียงแต่ใช้วัสดุต่างกันเท่านั้น ซึ่งแน่นอนว่าย่อมมีผลต่อการทำกู่ฉิน เพราะสายเหล็กจะมีการสั่นสะเทือนมากกว่าสายไหม เมื่อการสั่นสะเทือนต่างกันมีผลต่อความหนาบางของแผ่นไม้ที่ใช้ทำกู่ฉิน หากทำตามแบบโบราณโดยไม่ดัดแปลงเลยแล้วขึ้นสายเหล็กคุณภาพเสียงจะไม่ดี ดังนั้นจึงต้องมีการประยุกต์และดัดแปลงบ้าง แผ่นไม้ที่ใช้ทำกู่ฉินที่จะขึ้นสายเหล็กจึงต้องหนากว่าเล็กน้อย แต่ไม่มีผลต่อรูปทรงภายนอก

ต้องยอมรับว่า สายทั้งสองอย่างมีข้อดีและข้อด้อยต่างกัน อย่างสายที่ทำจากเส้นไหมนั้นเสียงจะดีกว่า แต่ขาดง่าย รักษายาก เสียงเพี้ยนง่าย เทียบเสียงยาก และมีราคาแพง ส่วนสายเหล็กนั้นแม้เสียงจะไม่ดีเท่าสายไหม แต่ทนทานกว่าและราคาถูกกว่า เหมาะกับผู้เริ่มเรียน

 

Q: ในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม กู่ฉินก็ได้รับผลกระทบบ้างไหม

A: เรื่องนี้ก็มีคนวิพากวิจารณ์กันมากพอสมควร อย่างที่คุณคงทราบกู่ฉินเป็นเครื่องดนตรีสำหรับขัดเกลาและบ่มเพาะตนเอง มีเป้าหมายเพื่อแสวงหาความสุขเฉพาะตน อย่างมากที่สุดก็เพียง 3-4 คนดื่มน้ำชาไป ดีดและฟังกู่ฉินไปด้วย หรืออาจจะถกปัญหาชีวิตหรือข้อคิดปรัชญาต่างๆ

แต่ช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมนั้นมีผลกระทบต่อผู้คนอย่างมากยุคหนึ่งเลยทีเดียว คนจำนวนมากขาดความเข้าใจในเป้าหมายและคุณค่าของกู่ฉิน ในเวลาเดียวกันก็มีรณรงค์ให้ทำลายสิ่งเก่าทั้ง 4 คิดว่าต้องต่อต้านสิ่งเก่าๆ ทั้งหมด ทำให้เกิดอคติต่อกู่ฉิน ดังนั้นจึงต้องดัดแปลงกู่ฉินให้มีเสียงดังเพื่อให้คนจำนวนมากได้ยินและรับรู้ได้ง่ายขึ้น ตอนนั้นมีสโลแกนว่า “ ศิลปะทุกแขนงต้องรับใช้คนงาน เกษตรกรและทหาร ” เพื่อให้ชาวบ้านสามารถรับรู้ศิลปะแขนงนี้ได้ จำเป็นต้องประดิษฐ์กู่ฉินให้ใหญ่และหนากว่าของโบราณ ซึ่งสิ่งนี้เป็นความผิดพลาด

จริงๆ แล้วผมยอมได้หากจะทำให้กู่ฉินมีเสียงดังขึ้นแต่ยังได้เสียงที่มีคุณภาพดี แต่ถ้าทำให้เสียงดังเกินไปแล้ว มันก็เกิดความขัดแย้งขึ้น อย่างที่ผมเล่าไปตอนต้นว่ากู่ฉินเกิดจากการประสมประสานกันของเสียง เมื่อเสียงดังเกินไป มันก็ไม่สงบ ขาดความนุ่มนวล ซึ่งเรื่องเหล่านี้ในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมถูกละเลยและมองข้ามไป เน้นแต่เพียงทำอย่างไรให้ได้กู่ฉินที่มีเสียงดัง การเปลี่ยนแปลงกู่ฉินในยุคนี้มีค่อนข้างมาก แต่ก็เป็นระยะเวลาไม่ยาวนาน เพียง 10 ปีก็ผ่านพ้นไป ต่อมาผู้คนเริ่มรับรู้ถึงปัญหาและความสำคัญของกู่ฉิน จึงกลับมาสู่แบบดั้งเดิมอีกครั้ง

แต่ใช่ว่าในยุคนี้จะสร้างแต่ปัญหานะครับ เพราะสายเหล็กก็ถูกค้นคิดขึ้นในช่วงเวลานี้เช่นกัน ซึ่งมีประโยชน์อย่างมากสำหรับผู ้้เริ่มเรียน

 

 

Date

27 เมษายน 2564

Tags

พิณ หมากรุก ลายสือศิลป์ ภาพวาด