ดนตรีเป็นศิลปะ
|
พรหมมินทร์ สุนทระศานติก |
แม้ว่าในปัจจุบัน ดนตรีที่กรอกหูเราอยู่ตลอดเวลา ทั้งที่เราต้องการจะฟังหรือไม่ต้องการจะฟัง (แต่มีผู้ที่ต้องการให้เราฟังเพื่อผลประโยชน์บางประการ) จะมีจุดมุ่งหมายที่สร้างขึ้นมาเพียงเพื่อเป็นการหากำไร (เงิน) จากกลุ่มคนที่เขาเล็งเห็นว่าได้เงินแน่ๆ หากทำให้ชินกับมัน คุณค่าของดนตรีที่ถูกสร้างขึ้นมาจากความบริสุทธิ์ใจของศิลปินก็ไม่ได้ถูกลดทอนคุณค่าลงไป ในทางกลับกัน หากเรามีจิตที่สงบพอที่จะรับรู้มันได้แล้ว มันกลับสามารถที่จะสร้างคุณค่าได้มากทวีคูณ ในท่ามกลางความไม่มีคุณค่าทางดนตรีให้เราได้รับรู้ ดนตรีที่เป็นงานศิลปะอย่างแท้จริงนั้นถูกสร้างขึ้นเพื่อเจตนาอันงดงาม ปราศจากความโลภเพื่อผลตอบแทน ตรงกันข้าม ศิลปินผู้สร้างดนตรีใช้เสียงเหล่านั้นเป็นสื่อถ่ายทอดเอาอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดของศิลปิน ในยามที่เขาเหล่านั้นมีสภาวะแห่งจิตที่ปรากฎภาพชัดเจนมากเกินกว่าจะบรรยายออกมาโดยคำพูดได้ ศิลปะบริสุทธิ์ อันถูกร้อยเรียงขึ้นราวกาพย์กวีที่ปรากฎขึ้นในใจของศิลปินจึงถูกถ่ายทอดออกมาทางเสียงดนตรี เสียงดนตรีจึงสามารถสร้างอารมณ์สะเทือนใจ หรือสร้างภาพปรากฎอันงดงามขึ้นต่อความรู้สึกของผู้ฟังได้
ภาพภูเขาสูงทะมึนที่ตั้งสลับซับซ้อนเรียงรายอยู่ริมน้ำอันเงียบสงัด ไร้ผู้คน ไอหมอกโรยตัวอยู่ที่โคนเขาพาเอาความหนาวเย็นสู่ชายน้ำ ชายชรานั่งอยู่บนโขดหินริมสายน้ำ เดียวดาย เกลียวคลื่นพลิ้วที่ซัดสาดกระทบโขดหิน ไอฟุ้งกระจาย ชายชราสูดลมหายใจเอากลิ่นดินต้องน้ำเข้าเต็มปอด ความสงบแห่งจิต ความเงียบงันท่ามกลางเสียงแห่งธรรมชาติ ชายชราเผชิญหน้าต่อธรรมชาติอันยิ่งใหญ่เบื้องหน้า สายตาที่เพ่งมองไปยังขุนเขาเมื่อเทียบกับกายอันกะจิดริดของชายชราผู้ไร้เรียวแรงจะต่อสู้ ความเข้าใจต่อชะตากรรมของชีวิต ถูกถ่ายทอดออกมาเป็นความรู้สึกอันสื่อสารต่อมายังเราด้วย องค์ประกอบทั้งมวลของภาพ และเช่นเดียวกัน... ในเสียงเพลง เสียงอันก้องกังวานราวกับเรานั่งอยู่ท่ามกลางธรรมชาติอันเงียบสงัด ก้องสะท้อนอยู่ในจิต สำเนียงเนิบช้าที่ทิ้งเสียงสุดท้ายให้ค่อยเงียบหายไป แล้วกลับก้องกังวานขึ้นอีก ช้าบ้าง เร็วแล้วกลับช้าลงอีกราวเสียงถอนใจ เสียงและความเงียบ คำกล่าวพูดและการวรรคคำ อารมณ์ที่ปรากฎอยู่ในถ้อยคำที่เต็มไปด้วยสัมผัสอันงดงาม เสียงที่สัมผัสกันปรากฎเป็นท่วงทำนองสุนทรี ดนตรีที่มีเสียงราวกับว่ามันเป็นท่วงทำนองแห่งความเงียบ เพียงเพื่อต้องการสื่อสารบางสิ่งบางอย่าง อารมณ์ที่ถูกถ่ายทอดออกมาบอกเราว่า ... ต้องการเพียงมีคนเข้าใจ เสียงที่ดังก้องออกมาจากกล่องไม้เครื่องสายนั้นมีกังวานก้อง ใส บริสุทธิ์ ด้วยเสียงที่ตรงออกเหมือนเสียงที่มีอยู่ในธรรมชาตินี้ เราสัมผัสลมหายใจอันบริสุทธิ์ ไอเย็นแห่งที่ว่าง ความเงียบวังเวง สภาวะแห่งความเข้าใจปรากฏขึ้นต่อจิตของเราที่จดจ่ออยู่กับเสียงสำเนียงเสนาะในที่เงียบแห่งนี้
แล้วเสียงลำนำแห่งบทกวีของ หลี่ไป๋ ดังก้องอยู่ในจิตใต้สำนึกของเรา ชายชราขี้เมา ลอยเรือลำน้อยอยู่เดียวดายกลางลำน้ำในคืนพระจันทร์เต็มดวง เหมือนใบไม้ใบเล็กในมหานที ไม่มีคันเ บ็ ดตกปลา ไม่มีหลังคาหญ้าสาน เมามายอยู่ใต้แสงจันทร์ เรือลำน้อยโคลงเคลงยามต้องลมเย็น เงาจันทร์ที่สะท้อนรูปอยู่บนผิวน้ำนิ่งเงียบดั่งกระจกผืนใหญ่ไหวพร่า แสงจันทร์นวลทาบทาให้เห็นท้องฟ้าใสราวแก้วมณี เงาไม้รายเรียงไกลออกไปไหวพลิ้วยามต้องลม ยามเคลิ้มหลับด้วยความเมามาย มือที่เกาะกาบเรือตกลงไปในสายน้ำเย็นยะเยือก สะดุ้งตื่นขึ้น กายหนาวสั่น เมื่อสติกลับมา สายตาที่ทอดออกไปเบื้องหน้านั้นเห็นภาพทั้งหมดที่ประสานกันเป็นหนึ่งธรรมชาติ ยินเสียงกวีทอดถอนใจต่อความงามที่ปรากฎต่อจิตของเขา ท่ามกลางความเงียบจนได้ยินแม้เสียงถอนใจ ! ข้อความข้างต้นเป็นดังเสียงสะท้อนถึงความรู้สึกเบื้องแรกต่อการได้ฟังเพลง Cloud over the Xiao and Xiang และเพลง Evening Song of the Drunken Fisherman ในอัลบั้ม CD ชุด Flower by the Spring River in the moonlight – Guang Ling Prose ที่บรรเลงโดย กู่ฉิน เครื่องดนตรีอันเต็มไปด้วยจิตวิญญาณแห่งศิลปะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอย่างหนึ่งในประวัติศาสตร์เครื่องดนตรีของโลก จากความยากเย็นในการสร้างเครื่องดนตรีชนิดนี้ให้ได้เสียงก้องกังวาน เทคนิคการเล่นที่สลับซับซ้อน การถ่ายทอดอารมณ์ที่เป็นนามธรรมทำให้ในปัจจุบันเพลงที่บรรเลงด้วยกู่ฉินแทบจะถูกลืมหาย และมีนักดนตรีนับคนได้ที่ยังคงฝึกฝนสานต่อการเล่นเครื่องดนตรีชนิดนี้แม้ในประเทศที่เป็นต้นกำเนิด
มีหลักฐานปรากฎว่าได้มีการเล่นกู่ฉินตั้งแต่สมัยชุนชิว ราว ๕๐๐ - ๗๐๐ ปีก่อน ค.ศ. และยังมีการขุดค้นพบกู่ฉินในหลายมณฑลของจีน ทั้งในลักษณะ ๗ สายและ ๑๐ สาย โดยมีอายุราว ๒๐๐๐ ปีขึ้นไป การบรรเลงกู่ฉินมักจะอยู่ในรูปแบบของการบรรเลงเดี่ยว เนื่องจากเสน่ห์ของมันอยู่ที่ความก้องกังวานของเสียง และการทิ้งเสียงให้จางหายไปกับความเงียบ แต่ยังมีบทเพลงที่เขียนไว้สำหรับกู่ฉินจำนวนมากที่เขียนไว้เพื่อแสดงกับเครื่องดนตรีชนิดอื่นๆ แม้แต่การบรรเลงกับเนื้อร้อง อารมณ์ของเพลงที่บรรเลงด้วยกู่ฉินสามารถแสดงอารมณ์ได้หลากหลายเช่นเดียวกับเครื่องดนตรีทุกชนิด ตั้งแต่ ความรัก การพลัดพราก ความรื่นรมย์ แต่ส่วนมากจะใช้กู่ฉินในการบรรเลงเพื่อบรรยายบรรยากาศ และทิวทัศน์อันสวยสดงดงามลุ่มลึก
โน้ตดนตรีสำหรับเดี่ยว เปียโนของ John Cage และภาพเขียนสะเทือนอารมณ์ท่ามกลางความเงียบ วังเวง ในงานภาพเขียนของญี่ปุ่น ดนตรีที่เล่นด้วยกู่ฉินนั้น เวลาและการรับรู้มีส่วนสำคัญอย่างมากในการเข้าใจอารมณ์ของเพลง เนื่องจากจังหวะของดนตรีดำเนินไปตามอารมณ์ของเนื้อหาที่ศิลปินกำลังถ่ายทอดออกมา เร็ว ช้า เนิบนาน ไม่มีจังหวะที่สม่ำเสมอตายตัว (Rhythm หรือ Beat) มากำหนด ศิลปินจึงมีอิสระในการถ่ายทอดเอาเนื้อหาและความรู้สึกออกมาได้อย่างเสรี จังหวะจะโคนของท่วงทำนองที่ไม่สม่ำเสมอตายตัว พลิกผันและแปรเปลี่ยนไปนี้สอดคล้องกับจังหวะต่างๆ ที่ปรากฎอยู่ในธรรมชาติ ลมที่กรรโชกแรง กิ่งไม้ที่ไหวไปมา การเคลื่อนตัวและรูปทรงของเมฆบนท้องฟ้า ดนตรีที่บรรเลงด้วยกู่ฉินจึงสามารถแสดงภาพธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ให้เกิดกับจิตสำนึกของเราได้ การทิ้งช่องไฟ เว้นว่าง หรือปล่อยให้เสียงสุดท้ายค่อยๆ จางหายไป เหมือนกับการเว้นช่องไฟในการเขียนตัวอักษร และเส้นหมึกที่ขาดแห้งไปจากการลากปลายพู่กัน การมุ่งเน้นให้ความหมายของคำแต่ละคำสามารถเปล่งความหมายของมันได้ชันเจนยิ่งขึ้นท่ามกลางที่ว่างที่รายล้อมมันอยู่ เสียงที่ดังกังวานอยู่ปรากฎชัดเมื่อมันวางตัวอยู่ท่ามกลางความเงียบ
คุณสมบัติของสิ่งของสองสิ่งจะเปล่งความหมายออกมาได้ชัดเจนที่สุดเมื่อสิ่งที่มีคุณสมบัติของคู่ตรงข้ามวางอยู่ด้วยกัน หินก้อนโตที่วางอยู่ชายน้ำ ผนังเรียงอิฐที่วางอยู่ชิดหน้าต่างกระจกเปลือยวงกบ กลุ่มเมฆฝนยามเย็นที่ลมกรรโชกพัดแผ่กระจายเคลื่อนตัวอยู่บนขอบฟ้าที่ทอแสงแสดทอง ศิลปะแห่งการเล่นกับที่ว่างและความหมายของสิ่งคู่ควบนี้มีปรากฎในงานศิลปะทุกแขนงไม่ว่าจะในศิลปะตะวันออกหรือตะวันตก ความเงียบที่แทรกอยู่ระหว่างคำนี้เองที่ทำให้เสียงปรากฎต่อจิตของเราได้ชัดเจนยิ่งขึ้น เป็นความว่างจากเสียงที่เรียกจิตของเราให้พุ่งความสนใจลงไปในเสียง ท่วงทำนองที่ปรากฎขึ้นตามหลังความเงียบนั้น ความฉับพลันของการส่งผ่านอารมณ์ความรู้สึกออกมาเป็นเสียงดนตรี
|