กู่ฉินในมหาวิทยาลัยปักกิ่ง

กู่ฉินในมหาวิทยาลัยปักกิ่ง

 


กู่ฉินในมหาวิทยาลัยปักกิ่ง

เหวินเหวิน ณ สวนชั่งชุน

      
     

        ในประเทศจีนแม้จะปกครองด้วยระบอบสังคมนิยม แต่นักศึกษามหาวิทยาลัยก็มีอิสระ
ในการทำกิจกรรมค่อนข้างสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ซึ่งอนุญาตให้ นัก -
ศึกษาตั้งชมรมเพื่อทำกิจกรรมต่างๆ ได้ แต่ไม่มีตึกกิจกรรมอย่างในเมืองไทย ดังนั้นที่ตั้งชมรม
จึงอยู่ตามหอพักนักศึกษา ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ห้องพักของประธานหรือเลขาเป็นที่ตั้งชมรม
โดยมหาวิทยาลัยอนุญาตให้ชมรมต่างๆ ใช้ห้องเรียน ห้องสมุดหรือหอประชุมเพื่อจัดกิจกรรม
ต่างๆ ได้ตามความเหมาะสม เนื่องจากมหาวิทยาลัยไม่ให้เงินสนับสนุนในการทำกิจกรรม แต่ละ
ชมรมจึงต้องเก็บเงินจากสมาชิกใหม่ที่มาสมัคร คนละ 5-10 หยวน (ราว 25-50 บาท) ดังนั้น
จำนวนสมาชิกจึงมีความสำคัญต่อชมรมไม่น้อย ทุกต้นภาคเรียนประมาณ 3 วัน มหาวิทยาลัย
อนุญาตให้ชมรมต่างๆ มาตั้งโต๊ะรับสมัครสมาชิกบริเวณหน้าหอประชุมที่ระลึก 100 ปีและ
บริเวณซานเจี่ยวตี้ (พื้นที่สามเหลี่ยมที่ใช้ติดประกาศข่าวสารต่างๆ ของมหาวิทยาลัย)

        ชมรมของมหาวิทยาลัยปักกิ่งมีหลากหลายกิจกรรมให้เลือก ตั้งแต่ชมรมที่เน้นความรู้
เช่น ชมรมดาราศาสตร์ ชมรมภาษาอังกฤษ ชมรมภาษาญี่ปุ่น ชมรมภาษาเกาหลี เป็นต้น ชมรม
กีฬาอย่างจักรยาน เบสบอล เทควันโด ฟันดาบ เป็นต้น ชมรมสันทนาการ เช่น ชมรมถ่ายภาพ
ชมรมวาดภาพ ชมรมเขียนอักษรพู่กันจีน ชมรมกีต้าร์ ชมรมอิเล็คโทน เป็นต้น หรือชมรมเพื่อ
พัฒนาตนเองและช่วยเหลือสังคมอย่างชมรมลัทธิเซ็น ชมรมมังสวิรัติ ชมรมบำเพ็ญประโยชน์


กิจกรรมของชมรมกู่ฉินมหาวิทยาลัยปักกิ่ง
ในภาพเป็นการบรรยายพร้อมสาธิต โดย ศ.หลี่เสียงถิง จากวิทยาลัยการดนตรีจีน

        ฤดูใบไม้ร่วง ปี 2001 นักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัยปักกิ่ง สาขาปรัชญา 2 คน
เจี๋ยยวี่เซวี่ยน (นักศึกษาเกาหลีใต้) กับหลีหู่ฉวินได้ก่อตั้งชมรมกู่ฉินขึ้น เจี๋ยยวี่เซวี่ยนเริ่มรู้จัก
และเรียนกู่ฉินเมื่อครั้งเรียนปริญญาโทอยู่ในไต้หวัน เพื่อที่จะเรียนกู่ฉินให้ดียิ่งๆ ขึ้น เขายอม
สละโอกาสในการศึกษาต่อปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยในไต้หวันมอบให้ และเดินทางมาสอบ
คัดเลือกที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง ที่ปักกิ่งเขาได้เป็นศิษย์ติดตามเรียนกู่ฉินกับอ.อู๋เจา ซึ่งดำรง
ตำแน่งประธานชมรมกู่ฉินประเทศจีน และเดินทางไปตามเมืองต่างๆ เพื่อศึกษากับอาจารย์กู่ฉิน
ที่มีชื่อเสียงหลายท่าน ส่วนหลีหู่ฉวินเมื่อทราบข่าวว่ามีนักศึกษาเกาหลีใต้กำลังเรียนและเล่น
กู่ฉินอยู่ จึงตามไปถึงบ้านของนักศึกษาคนนั้นเพื่อขอฟังและสนทนาเกี่ยวกับกู่ฉิน หลีหู่ฉวิน
กล่าวว่า “ เมื่อได้ฟังก็อยากเล่นกู่ฉินบ้าง กู่ฉินมีเสน่ห์ดึงดูดอย่างประหลาด ” ไม่นานหลีหู่ฉวินก็
เริ่มเรียนกู่ฉิน ต่อมาทั้งสองจึงตั้งชมรมกู่ฉิน มหาวิทยาลัยปักกิ่งขึ้น ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยแห่ง
แรกที่ก่อตั้งชมรมกู่ฉิน

         ในวันรับสมัครสมาชิก ทั้งสองได้ยกเอาโต๊ะไม้เก่าๆ ไปตั้งเพื่อวางกู่ฉิน มีนักศึกษาเดิน
เข้ามาเจอแล้วพูดว่า “ กู่เจิงตัวนี้ของเธอไม่เลวเลยนะ ” แม้ว่ากู่ฉินจะได้รับเลือกให้เป็นมรดก
โลกทางวัฒนธรรม (เป็นอันดับ 2 ต่อจากการขับร้องคุนฉวี่) แต่ก็ยังมีคนจำนวนมากแยกไม่
ออกระหว่างกู่ฉินกับ กู่เจิง อย่างไรก็ตาม ในครั้งนั้นมีนักศึกษาสนใจสมัครเป็นสมาชิกจำนวน
ไม่น้อย จนถึงปี 2004 ชมรมมีสมาชิกมากกว่า 400 คน โดยในจำนวนนี้เป็นนักศึกษาต่างชาติ
จากสหรัฐอเมริกา เยอรมัน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซียและไทย เป็นต้น ยังไม่นับรวมนักศึกษา
จากฮ่องกงและไต้หวันอีกด้วย สมาชิกส่วนหนึ่งเริ่มหัดเรียนกู่ฉินโดยฝากตัวเป็นศิษย์นักดนตรี
กู่ฉินและอาจารย์สอนกู่ฉินหลายท่าน ซึ่งชมรมเป็นผู้แนะนำให้รู้จัก ในขณะที่สมาชิกอีกส่วน
หนึ่งขอเป็นเพียงผู้ฟังและเข้าร่วมกิจกรรมที่ชมรมกู่ฉินจัดอย่างต่อเนื่อง ทุกวันอาทิตย์จะมีการ
ชุมนุมของสมาชิก เพื่อมาบรรเลงกู่ฉินที่ตนเองได้เรียนมา ทุกภาคเรียนสมาชิกของชมรมจะจัด
คอนเสิร์ตขนาดย่อมภายในหอสมุดของมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ยังจัดให้มีการบรรยายและ
คอนเสิร์ตโดยเชิญนักดนตรีกู่ฉินที่มีชื่อเสียงมาบรรยาย อย่างเช่น อ.อู๋เจา อ.กงอี อ.อู๋เหวินกวง
อ.หลี่เสียงถิง เป็นต้น ซึ่งในการบรรยายแต่ละครั้งได้รับความสนใจจากนักศึกษาจำนวนมาก

        ช่างทำกู่ฉินชื่อดังและอาจารย์สอนกู่ฉินหลายท่านเห็นถึงความตั้งใจของผู้ก่อตั้งชมรม
ทั้งสองและเล็งเห็นถึงความสำคัญในการหาผู้สืบทอด ในปีแรกได้บริจาคกู่ฉินคุณภาพดี ราคา
ประมาณ 7-8 พันหยวน (ราวสามหมื่นห้า-สี่หมื่นบาท) ให้แก่ชมรมถึง 8 ตัว เพื่อให้นักศึกษา
ที่พึ่งเริ่มเรียนได้ยืมไปฝึกหัด

        หลังจากที่กู่ฉินได้รับเลือกให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ผู้คนหันมาสนใจและให้ความ
สำคัญกับเครื่องดนตรีชนิดนี้มากขึ้น ชมรมกู่ฉินมหาวิยาลัยปักกิ่งก็เติบโตและได้รับความสนใจ
จากนักศึกษาเพิ่มขึ้นเป็นลำดับเช่นกัน แต่เจี๋ยยวี่เซวี่ยนกับมีทัศนะที่แตกต่างของตนว่า “ การ
ทำให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายตามกระแสนั้นไร้ประโยชน์ มีเพียงคนที่เข้าใจกู่ฉินจึงจะชอบมัน กู่ฉิน
ตกทอดมากว่า 3,000 ปีแล้ว นับแต่อดีตทุกๆ ราชวงศ์มีคนเล่นกู่ฉินจำนวนน้อยมาก สมัย
ราชวงศ์ถังนับเป็นยุครุ่งเรืองของศิลปวัฒนธรรม แต่คนเล่นกู่ฉินกลับมีจำนวนไม่มาก ดังกลอน
ของกวีสมัยราชวงศ์ถังหลิวฉางชิงได้พรรณาให้เห็นสภาพจริงเช่นนี้ ‘ เสียงอันเยือกเย็นจากสาย
ทั้ง 7 ฟังสายลมหนาวพัดผ่านสนอย่างสงบ ท่วงทำนองโบราณขึ้นกับความชอบส่วนตัว แต่คน
ส่วนใหญ่นั้นไม่บรรเลง ' คนที่รักที่ชอบมาเรียนกู่ฉินได้ แต่ไม่มีความจำเป็นต้องประโคมให้
กู่ฉินเป็นที่รู้จักแพร่หลาย ”

 

 

 

Date

27 เมษายน 2564

Tags

พิณ หมากรุก ลายสือศิลป์ ภาพวาด