ขนมมาฮวา

ขนมมาฮวา

 


ขนมมาฮวา


 

 

      

        

       ขนมมาฮวาเป็นขนมที่ทำจากแป้งกับงานำไปทอดกรอบ ขนมมาฮวามีหลายสิบชนิด ขนาดก็แตกต่างกัน
ตั้งแต่ใหญ่ที่สุด ประมาณ  1 ฟุตครึ่งถึงเล็กที่สุดกิน 2 คำก็หมด ด้วยความกรอบของขนมชนิดนี้ มีคนกล่าวว่า
“เคี้ยวขนมมาฮวาได้ยินไปไกล 10 ลี้”
       ในสมัยโบราณเรียกขนมชนิดนี้ว่า “หันจี้ว์ (寒具)” เล่ากันว่า หนึ่งวันก่อนหน้าวันเช็งเม้งถือเป็นเทศกาล
“หันสือเจี๋ย (寒食节)” หรือเทศกาลกินอาหารเย็น (อาหารที่ไม่ได้ใช้ไฟหุงต้ม) ในเทศกาลนี้ห้ามใช้ไฟ 3 วัน
       เหตุที่ห้ามใช้ไฟ 3 วัน ตามหลักฐานที่มีบันทึกว่า สมัยจั้นกว๋อ (403 ปีก่อนค.ศ. – 221ปีก่อนค.ศ.)
เจี้ยจื่อทุย (介子推) ติดตามเจ้าจ้งเอ่อร์ (重 耳) เจ้าผู้ครองรัฐจิ้นลี้ภัยการเมืองไปอยู่ต่างแดนถึง 19 ปี
ครั้งหนึ่งเจ้าจ้งเอ่อร์ไม่มีอาหารรับประทาน เพื่อแสดงความจงรักภักดีต่อเจ้านาย เจี้ยจื่อทุยจึงตัดเนื้อสะโพก
ของตนมอบให้นาย
       ต่อมาเจ้าจ้งเอ่อร์ได้อำนาจคืนเป็นจิ้นเหวินกง (晋文公) ได้ปูนบำเหน็จให้แก่ข้าราชบริพารทุกคน
แต่ลืมเจี้ยจื่อทุยผู้จงรักภักดีไปคนหนึ่ง เจี้ยจื่อทุยรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจเป็นอย่างยิ่ง จึงพามารดาหนีไปใช้ชีวิต
อยู่บนภูเขาเหมียนซาน (绵山)
       อยู่มาวันหนึ่ง เจ้าจ้งเอ่อร์คิดถึงเจี้ยจื่อทุยจึงสั่งให้คนไปเรียกมาพบ แต่เจี้ยจื่อทุยได้หนีไปนานแล้ว
เจ้าจ้งเอ่อร์จึงพาข้าราชบริพารไปตามหาที่เขาเหมียนซาน แต่หาตัวไม่พบ จึงสั่งให้เอาไฟเผาป่าเพื่อบังคับ
ให้เจี้ยจื่อทุยออกมา แต่ด้วยความรักศักดิ์ศรี เจี้ยจื่อทุยไม่ยอมออกไปพบ ทั้งแม่และลูกจึงถูกไฟครอกตาย
เจ้าจ้งเอ่อร์เศร้าโศกเป็นอย่างยิ่งและพาลไปโกรธไฟที่ทำให้แม่ลูกตาย จึงประกาศให้ประชาชนทราบว่า 3
วันก่อนวันที่เจี้ยจื่อทุยจะเสียชีวิต ห้ามใช้ไฟทั่วรัฐจิ้น และกลายเป็นเทศกาลหันสือเจี๋ย
       เมื่อไม่สามารถใช้ไฟถึง 3 วัน จึงจำเป็นต้องทำอาหารเตรียมไว้ล่วงหน้า อาหารนั้นต้องเก็บไว้ได้นาน
โดยไม่เสียหรือเปลี่ยนรสชาด จึงมีคนคิดทำขนมหันจี้ว์หรือขนมทอดน้ำมันมารับประทาน เพราะเก็บไว้ได้นาน
หลายวันไม่เสียและยังกรอบอร่อย
       นอกจากนี้ ในหนังสือเปิ๋นเฉ่ากังมู่ของนายแพทย์หลี่สือเจินได้บันทึกไว้ว่า ขนมหันจี้ว์ก็คือขนมมาฮวา
ทำให้เราทราบถึงประวัติอันยาวนานของขนมชนิดนี้

 

Date

27 เมษายน 2564

Tags

บทความจากนิตยสารภาพจีน