หลี่สือเจิน

หลี่สือเจิน

 

 

หลี่สือเจินนักเภสัชวิทยาผู้ยิ่งใหญ่
นักวิทยาศาสตร์จีนสมัยโบราณ



นิตยสารภาพจีน
ปีที่ 4 ฉบับ 43
พฤษภาคม 2534


      หลี่สือเจิน (李时珍 ค.ศ.1518 - 1593) มีชีวิตอยู่ในสมัยราชวงศ์หมิง เขาเป็นทั้งแพทย์และ
เภสัชกรผู้ยิ่งใหญ่ ผลงานสำคัญที่สุดของเขาคือการเรียบเรียงตำราเภสัชวิทยาชุดมหึมาชื่อ “เปิ๋นเฉ่า-
กังมู่” ซึ่งไม่เพียงได้รับการยกย่องอย่างสูงในประเทศจีน หากยังได้รับความสนใจแปลออกเป็นภาษา
ต่างประเทศหลายภาษา

      เมื่อพิจารณาดูจากพื้นเพทางครอบครัวของเขา ซึ่งมีบิดาเป็นแพทย์ที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งของอำเภอ
ฉีชุน  มณฑลหูเป่ย ก็น่าจะสรุปได้ว่าการที่หลี่สือเจินจะสืบทอดอาชีพนี้จากบิดาเห็นจะมิใช่เรื่องลำบาก
ยากเย็นอะไร แต่ความเป็นจริงแล้วหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ ถึงแม้บิดาจะเห็นเขาสนใจเรื่องการรักษาและยา
สมุนไพรมาตั้งแต่น้อย ก็ไม่อยากให้เขาเป็นแพทย์ เนื่องจากสังคมเวลานั้นยังถือว่าอาชีพหมอเป็นอาชีพ
ต่ำต้อย มักถูกดูหมิ่นเหยียดหยาม จึงต้องการให้เขาร่ำเรียนหนังสือเพื่อสอบเข้าราชการเป็นขุนนางมาก
กว่า อย่างไรก็ดี หลี่สือเจินไม่ยอมทำตามความปรารถนาของบิดากลับรักงานหมอมากยิ่งขึ้นทุกที เมื่อ
ไปสอบเข้ารับราชการในระดับ “จวี่เหริน” อันเป็นการสอบระดับต่ำสุด ก็ตกถึงสามครั้งสามครา จนบิดา
ต้องยอมเปลี่ยนความตั้งใจ อนุญาตให้เขาฝึกหัดเป็นแพทย์ได้

      ตอนเริ่มแรกนั้น หลี่สือเจินทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยของบิดา ติดตามบิดาออกไปรักษาคนไข้ตามที่ต่างๆ
เมื่อมีเวลาว่างก็หาตำราด้านการแพทย์ สมุนไพรมาอ่าน โดยเฉพาะหนังสือด้านเภสัชวิทยาสมัยโบราณ
ด้วยแล้ว เขายิ่งสนใจเป็นพิเศษ จากความสนใจค้นคว้าหาความรู้และนำความรู้มาฝึกฝนทดลองใช้ ทำให้
เขามีความสามารถในการรักษาคนไข้ได้ดีขึ้นเรื่อยๆ

      ในปีค.ศ.1545 แถบบ้านเกิดของหลี่สือเจินประสบภัยน้ำท่วมแล้วก็ตามมาด้วยโรคระบาด หลี่สือเจิน
ออกรักษาผู้ป่วย โดยอาศัยเทคนิคการแพทย์จีนที่เรียกว่า “สื้อเจิ่นปากัง”  (สื้อเจิ่นหมายถึง การวินิจฉัย
โรคด้วย 4 วิธี คือ 1.สังเกตสีหน้าอาการคนไข้  2.ตรวจด้วยการฟัง  3.ซักถาม  4.จับชีพจร ปากัง
หมายถึงอาการที่ต้องพิจารณารวม 8 อย่าง คือ อิน หยาง ภายนอก ภายใน  หนาว ร้อน เท็จ จริง) อีกทั้ง
อาศัยตำรับยาของแพทย์โบราณที่ได้ศึกษามาประยุกต์ใช้ ทำให้ชาวบ้านหายป่วย โดยเสียค่ารักษาไม่มาก
จึงต่างชมเชยหลี่สือเจินกันทั่ว

       จากการรักษาไข้มานานปี ทำให้หลี่สือเจินตระหนักว่าหลักสำคัญที่สุดสำหรับแพทย์คือ  ต้องรู้จัก
ยากับรู้จักวิธีใช้ยา ทว่าเขาก็พบด้วยว่า ตำรายาที่เรียบเรียงขึ้นในสมัยโบราณยังมีความบกพร่องผิดพลาด
ไม่น้อย อีกทั้งยังมียาสมุนไพรใหม่ๆ อีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งเพิ่งมารู้จักภายหลัง  ไม่ได้รวบรวมอยู่ในตำรา
เหล่านั้น ด้วยเหตุนี้ เขาจึงเกิดความคิดที่จะเรียบเรียงตำราเภสัชวิทยาที่ทันสมัยขึ้นมา

       หลี่สือเจินตกลงใจว่า จะอาศัยตำราเภสัชวิทยา “เจิ้งเล่ยเปิ๋นเฉ่า” ของสมัยราชวงศ์ซ่ง  (ค.ศ.
960 – 1279) เป็นพื้นฐานในการปรับปรุงและเพิ่มเติมให้เป็นตำราใหม่ แต่เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องแน่
นอน เขาจึงพาบุตรชายและลูกศิษย์ออกไปเก็บตัวอย่างสมุนไพรตามป่าเขาต่างๆ อีกทั้งสอบถามขอความ
รู้จากชาวบ้าน เขาทุ่มเทเวลาถึง 27 ปี จึงสามารถเขียนตำรา “เปิ๋นเฉ่ากังมู่” ฉบับร่างได้สำเร็จในปีค.ศ.
1578 ทว่าเขาไม่พอใจอยู่เพียงเท่านั้น ยังใช้เวลาอีกกว่า 10 ปีเพื่อแก้ไขต้นฉบับให้ถูกต้องสมบูรณ์ยิ่ง
ขึ้นเรื่อยๆจนเมื่อแก้ไขร่างใหม่ถึง 3 ครั้งแล้ว เขาจึงรู้สึกว่าดีพอแก่การเผยแพร่แล้ว

        ตำรา “เปิ๋นเฉ่ากังมู่” ประกอบด้วยตัวหนังสือจีนประมาณ 1,900,000 ตัว  แบ่งออกเป็น 52
บท  บอกลักษณะของสมุนไพร รวม 1,882 ชนิด  ซึ่งในจำนวนนี้ 374 ชนิดไม่เคยมีผู้เขียนถึงมาก่อน
วิธีเขียนก็พรรณานาทั้งสีและกลิ่นของสมุนไพรเหล่านี้ โดยมีภาพประกอบรวม 1,160 ภาพ อีกทั้งยังบอก
ชื่อที่เรียกขานกันในท้องที่ต่างๆ สถานที่ค้นหา วิธีเก็บ วิธีปรุง และโรคที่ยาเหล่านี้รักษาได้ นอกจกนั้น
ตำราชุดนี้ยังแนะนำตำรับยาโบราณตลอดจนตำรับยาชาวบ้าน รวม 11,096 ขนาน ในจำนวนนี้เป็นตำรับ
ยาที่หลี่สือเจินรวบรวมมาเอง 8,161 ขนาน

         “เปิ๋นเฉ่ากังมู่” นับว่าเป็นผลงานที่รวบรวมผลสำเร็จด้านแพทยศาสตร์และเภสัชวิทยาของจีนใน
ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 เอาไว้อย่างเป็นระบบ ในเวลาต่อมายังได้ถูกแปลออกเป็นภาษาต่างประเทศ
หลายภาษา เช่น ลาติน อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน ญี่ปุ่นและเกาหลี



สุสานหลี่สือเจิน ริมทะเลสาบอี่หู่ในอำเภอฉีชุน





“เปิ่นเฉ่ากังมู่” ตำราเภสัชวิทยาชุดใหญ่

Date

27 เมษายน 2564

Tags

บทความจากนิตยสารภาพจีน