พานักดนตรีไปเที่ยว

โจวเหล่าซือ
           เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาที่ทาง OKLS จัดคอนเสิร์ต กู่ฉิน เพลงพิณมรดกโลก ผมเองในฐานะผู้เกี่ยวข้องคนหนึ่งจึงซึ่งได้รับหน้าที่จากทางโรงเรียนให้ช่วยดูแลศิลปินทั้ง 2 ท่าน จึงได้มีโอกาสกระทบไหล่ศิลปินฝีมือระดับโลกกับเขาด้วย พลอยให้รู้สึกปลื้มอกปลื้มใจไม่น้อย

           นักดนตรี 2 ท่าน ท่านหนึ่งคือ อวี๋ ชิง ซิน ปรมาจารย์กู่ฉินในทำเนียบนักดนตรีกู่ฉินโลก อีกหนึ่งท่านคือ ตู้ชง นักดนตรีขลุ่ยระดับแผ่นเสียงทองคำ มาเมืองไทยครั้งนี้โดยการเชิญของ OKLS ซึ่งผมเองก็ได้วางโปรแกรมที่จะพาท่านไปเที่ยวที่ต่างๆ แต่เอาเข้าจริงก็ไปได้ไม่กี่ที่เนื่องจากเวลาค่อนข้างจำกัด อีกทั้งยังมีสายด่วนจากรายการโทรทัศน์หลายรายการที่กริ๊งกร๊างกันเข้ามาเชิญศิลปินไปออกรายการแบบกะทันหัน ทำให้โปรแกรมที่วางไว้ต้องเปลี่ยนอยู่เรื่อย

           ครั้งแรกที่ผมไปรับอาจารย์จากโรงแรมฟอร์จูน (ตึกเดียวกับสำนักงานใหญ่ของ OKLS) ก็ถามไปว่าอาจารย์ทั้งสองอยากไปเที่ยวไหน อาจารย์หนุ่ม (ตู้ชง) รีบบอกทันทีว่าอยากไปดู “เหรินเยา” (แปลว่ากระเทย) หรือโชว์สาวประเภท 2 ที่พัทยา ส่วนอาจารย์หญิง (อวี๋ ชิง ซิน) บอกว่าอยากไปไหว้พระมากกว่า เพราะต้องการขอพรจากพระไทยเพื่อให้แม่ที่ไม่สบายอยู่ที่เมืองจีนหายป่วยไวๆ ทำเอาผมและ “เหวินเหวิน” (เจ้าของปากกา เหวินเหวิน ณ สวนชั่งชุน) หัวเราะกันท้องคัดท้องแข็ง เพราะผู้ชายอยากดูโชว์กะเทย ผู้หญิงอยากไหว้พระ สรุปแล้วไม่รู้จะพาไปไหนดี เลยตัดสินใจว่าคงต้องแยกๆกันไป

           ผมเองภาษาจีนก็ยังไม่ค่อยแข็งแรง พาคนจีนมาเที่ยวครั้งนี้เลยแทบใบ้กิน แม้จะพูดภาษาอังกฤษได้อยู่ แต่คนจีนแกก็ไม่ค่อยโอภาปราศรัยเป็นภาษาฝรั่งเสียด้วย ดีว่าอาจารย์ผู้ชายยังพอสปี๊กได้บ้างเลยพอคุยกับผมรู้เรื่อง ส่วนอาจารย์กู่ฉินนั้นแม้จะคุยเก่งแต่พอถามมาแต่ละทีทำเอาผมใบ้กิน เลยต้องพึ่งเหวินเหวินที่ติดรถมาด้วยให้ช่วยเป็นล่ามให้ทุกทีไป จนผมนึกโกรธตัวเองทุกทีว่าถ้าตั้งใจเรียนภาษาจีนเสียหน่อยป่านนี้คงพูดได้มากกว่านี้แล้ว

           เรื่องไปเที่ยวนั้นยาวอยู่ ให้เล่าหมดคงไม่ไหว แต่มีเรื่องขำๆระหว่างทริปอยู่ไม่น้อย จำได้ว่าคืนแรกที่ผมพาอาจารย์ทั้งสองไปเที่ยวสวนลุมไนท์บาซาร์ หลังจากได้ของที่ต้องการแล้ว อาจารย์ตู้บังเอิญไปสะดุดกับเครื่องดนตรีอย่างหนึ่งที่วางขายอยู่ในร้าน นั่นก็คือ “แคน”

           แคน ของอีสานบ้านเฮาเป็นเครื่องดนตรีที่ผมว่ารูปร่างละม้ายคล้ายกับ “ขลุ่ยแพ” หรือ “ไผเซียว” ซึ่งถือเป็นอาวุธประจำกายของอาจารย์ที่สุดแล้ว เมื่อมาเจอกับเครื่องดนตรีไทยที่คล้ายกับเครื่องดนตรีชิ้นเอกของตน “เจ้าชายแห่งขลุ่ยแพ” คนนี้จึงถึงกับงงเล็กน้อย ผมเองเลยกระซิบบอกอาจารย์หนุ่มว่า นี่แหละคือ “ไท่กว๋อไผเซียว” หรือแปลเป็นไทยว่า “ขลุ่ยแพเมืองไทย”

           ตู้เหล่าซือสนใจแคนอยู่มากทีเดียว เลยบอกให้คนขายหนุ่มเป่าให้ฟัง อันเล็กบ้างใหญ่บ้างจนเกือบหมดร้าน บางอันก็เสียงสูงปรี๊ด บางอันก็เสียงต่ำ พอเป่ามากๆเข้าผมสังเกตเห็นคนขายเริ่มเหงื่อตกหน้าซีดด้วยความเหนื่อย แต่คิดว่าเอาเถอะน่า เดี๋ยวได้เงินก็คงหายเหนื่อยเอง

           พอคนขายเป่าแคนอันสุดท้ายในร้าน อาจารย์ตู้ก็หันมาทางผมและเหวินเหวิน ผมนึกว่าแกคงบอกให้เราช่วยต่อราคาให้ ที่ไหนได้ แกพูด 2 คำสั้นๆว่า “โจ่ว ปา” แปลเป็นภาษาไทยว่า “ไปกันเหอะ...น้อง”

           ทิ้งให้คนขายหนุ่มจากแดนอีสานมองด้วยสายตางงๆ แปลเป็นความหมายได้ว่า “ให้กูเป่าแทบตายจะไม่ช่วยซื้อเลยหรือ(วะ)!!!” (ฮา)


“แคน” เครื่องดนตรีอีสานบ้านเฮา

“ไผเซียว” หรือ “ขลุ่ยแพ” อาวุธประจำกายของอาจารย์ตู้

ตู้ชง เจ้าของฉายา “เจ้าชายแห่งขลุ่ยแพ”

พิมพ์   อีเมล