ช่างทำกู่ฉินผู้หลงใหลในศิลปะและเสียงดนตรี 1

 


ช่างทำกู่ฉินผู้หลงใหลในศิลปะและเสียงดนตรี

สัมภาษณ์และภาพ : เหวินเหวิน

      

        ในวัยเด็กแม้จะยากจนแต่เขาก็มีใจรักในศิลปะและดนตรี เขาชอบแกะสลัก วาดรูป และประดิษฐ์เครื่องดนตรีเล่นเองมาตั้งแต่ตัวยังน้อย เขาจบสาขาการทำเครื่องดนตรีจีน แล้วไปทำงานแกะสลักไม้อยู่ช่วงหนึ่งก่อนที่จะมาทำกู่ฉินเป็นอาชีพ ในปัจจุบัน ฝีมือการทำกู่ฉินของเขาเป็นที่ยอมรับอย่างสูงจากนักดนตรีกู่ฉินทั่วประเทศ กู่ฉินกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต และวิธีการทำกู่ฉินก็คือวิถีชีวิตของเขานั่นเอง

ตอนที่1 อารัมภบท

Q: คุณเริ่มรู้จักและเกี่ยวข้องกับกู่ฉินตั้งแต่เมื่อไหร่

A: ผมเข้าเรียนที่วิทยาลัยการดนตรีเสิ่นหยาง ในปี ค.ศ. 1987 และนั่นเป็นครั้งแรกที่ผมได้สัมผัสกับกู่ฉิน ตอนนั้นนอกจากจะเรียนการทำเครื่องดนตรีจีนแล้ว ผมยังเริ่มเรียนกู่ฉินด้วย พอเรียนแล้วชอบมาก สุดท้ายก็เลือกสาขาการทำกู่ฉิน

 

Q: ทราบว่าคุณหวังเผิงจบสาขาการทำเครื่องดนตรีจีน พอจะช่วยเล่าถึงวิทยาลัยและสาขาที่คุณเรียนมาได้ไหม

A: วิทยาลัยนี้ถือเป็นวิทยาลัยการดนตรีที่นอกจากจะสอนดนตรีแล้ว ยังมีความเชี่ยวชาญในสาขาการทำเครื่องดนตรีจีน สอนโดยอาจารย์ที่มีความชำนาญเฉพาะทางและมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเครื่องดนตรีจีนโดยเฉพาะ

ตอนที่สอบเข้าวิทยาลัยนี้ก็นับว่ายากมาก เพราะไม่เพียงแต่ต้องมีพื้นฐานด้านดนตรี การเล่นดนตรี ทฤษฎีดนตรี ยังต้องมีพื้นฐานในการทำเครื่องดนตรี ตอนสมัครนักเรียนต้องนำผลงานของตัวเองไปเสนอด้วย สมัยมัธยมปลายผมอยากเล่นกีต้าร์ แต่ที่บ้านยากจนมากไม่มีเงินซื้อ
ก็เลยทำกีต้าร์ขึ้นมาเล่นเอง ผมก็เอากีต้าร์ตัวนั้นแหละไปสมัครสอบ

การสอบนอกจากต้องสอบวิชาบังคับ (เป็นข้อสอบรวมของทั่วประเทศ) เช่น ภาษาจีน ประวัติศาสตร์ ยังต้องสอบวิชาเฉพาะ ได้แก่ วิชาการประดิษฐ์ วิชาว่าด้วยเสียงดนตรี นักเรียนต้องผ่านทั้งวิชาบังคับและวิชาเฉพาะจึงจะได้เข้าเรียน

วิชาที่เรียนก็หลากหลาย นอกจากวิชาพื้นฐานที่มหาวิทยาลัยอื่นๆ เรียนกันแล้ว เรายังต้องเรียนวิชาพิเศษ เช่น วิชาการเลือกใช้ไม้ วิชาว่าด้วยเสียงดนตรี ศิลปะประดิษฐ์ วิชาปฏิบัติจำพวกงานไม้พื้นฐาน เริ่มจากงานไม้ทั่วไป การประดิษฐ์เครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ซึ่งต้องทำให้ผ่านเกณฑ์ก่อนจึงจะสามารถไปทำเครื่องดนตรีได้ ซึ่งผมเลือกวิชาการทำกู่ฉิน

Q: ต้องเรียนทั้งวิชาพื้นฐานและวิชาเฉพาะอย่างที่การเรียนก็หนักอยู่เหมือนกัน

A: ก็เรียนหนักมาก เพราะวิทยาลัยนี้เน้นทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติควบคู่กันไปตลอด โดยภาคเช้าจะเรียนวิชาพื้นฐาน เรียนภาคทฤษฎีต่างๆ ส่วนภาคบ่ายก็จะเป็นภาคปฏิบัติ เป็นอย่างนี้ตั้งแต่วันแรกที่เริ่มเรียนจนกระทั่งจบ เนื่องจากอาจารย์ของที่นี่ได้เดินทางไปดูงานตามวิทยาลัยการดนตรีในหลายประเทศ อย่างออสเตรีย เยอรมัน อิตาลี แล้วได้นำมาประยุกต์ใช้และทำเป็นหลักสูตรเฉพาะของตนขึ้นมา ทำให้อบรมนักศึกษาที่มีความชำนาญออกมาจำนวนมาก

อาจารย์จะเน้นเรื่องความคิดในการประดิษฐ์ผลงานและกระบวนการคิดเป็นสำคัญ อาจารย์ไม่เพียงแต่บอกว่าเครื่องดนตรีแต่ละชนิดทำยังไง ที่สำคัญที่สุดคือการให้แนวคิดกับนักศึกษา
ทำให้นักศึกษาสามารถริเริ่มและสร้างสรรค์ตามแนวทางของตนเอง อย่างนี้จึงจะก้าวหน้า

 

Q: ในปีนั้นมีนักเรียนสอบเข้าเรียนสาขานี้กี่คน

A: 2 คน แต่เพื่อนของผมตอนนี้ไปทำอาชีพอื่นแล้ว

 

Q: ตอนนั้นคุณต้องเรียนทำเครื่องดนตรีอะไรบ้าง

A: ก็หลายชนิดนะ อย่าง เปียโน เครื่องสายทั้งไวโอลิน วิโอลา เชลโล เครื่องดนตรีพื้นบ้านของจีน อาจารย์ของที่วิทยาลัยจะมีความชำนาญเฉพาะในแต่ละเครื่องดนตรี อย่างอาจารย์ของผม ศาสตราจารย์จ้าวกว่างยวิ่น ท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านคงโหว (คล้ายฮาร์พของตะวันตก) ท่านศึกษาและวิจัยเรื่องพัฒนาการของคงโหว

 

Q: แสดงว่าอาจารย์ของคุณทำเครื่องดนตรีได้หลายชนิด รวมทั้งกู่ฉินด้วย

A: ใช่ครับ ผมเป็นลูกศิษย์ของท่าน ได้ศึกษาและเรียนรู้สิ่งต่างๆ จากท่านมากมาย ไม่เฉพาะเรื่องการทำเครื่องดนตรี ก่อนจะจบนักศึกษาต้องประดิษฐ์เครื่องดนตรีคนละหนึ่งชิ้น ผมเลือกทำกู่ฉิน โดยใช้กู่ฉินสมัยราชวงศ์หมิง ชื่อ “ ไข่มุกเรียงร้อยราวน้ำตก ” ( ) ซึ่งเป็นแบบที่โอรสของจูหยวนจางประดิษฐ์ขึ้นเป็นต้นแบบ

 

Q: ในประเทศจีนวิทยาลัยดนตรีอย่างที่คุณเรียนมีมากไหม

A: ก็มีอยู่หลายแห่ง เช่น ที่ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ หนานจิง (นานกิง) แต่ที่วิทยาลัยของผมจะมีสาขาวิชาหลากหลายกว่าที่อื่นๆ

 

Q: หลังจากจบแล้วคุณทำงานอะไร

A: ผมมาอยู่ที่โรงงานทำเครื่องดนตรีพื้นบ้านของจีนที่ปักกิ่ง เพราะก่อนจบผมเคยมาฝึกงานอยู่ที่นี่ ตอนฝึกงานผมต้องทำเครื่องดนตรีหลายชนิด อย่าง กู่เจิง หย่วน หลิ่วฉิน ผีผา เอ้อร์หู หัวหน้าโรงงานเห็นว่าผมพอใช้ได้ก็เลยรับเข้ามาทำงาน

ผมทำงานอยู่ ๒ ปีก็ลาออกมาทำงานด้านแกะสลักอีก 7 - 8 ปี ผมว่าหากคนคนหนึ่งได้ทำงานที่ตัวเองชอบ นี่ก็ถือว่าเป็นความสุขอย่างหนึ่ง ผมชอบกู่ฉินและอยากทำกู่ฉินมาตลอด แต่ตอนเริ่มแรกนั้นประสบการณ์ยังน้อย และไม่มีทุน จนกระทั่งปี 2001 จึงหันมาทำกู่ฉินเป็นจริงเป็นจัง โดยประสบการณ์ที่สั่งสมมาจากงานทำเครื่องดนตรีในโรงงานกับงานด้านแกะสลักมีประโยชน์อย่างมากในการทำกู่ฉิน

นอกจากนี้ ผมยังเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายซ่อมเครื่องดนตรีเก่าของสถาบันวิจัยศิลปะแห่งชาติ ซึ่งผมก็ชอบมากเพราะ ขณะที่ทำงานซ่อมแซมเครื่องดนตรีโบราณนั้นเหมือนได้พูดคุยและเรียนรู้จากคนโบราณไปด้วย ผมรู้สึกว่าเป็นหน้าที่ที่ผมต้องซ่อมแซมและอนุรักษ์เครื่องดนตรีโบราณเหล่านี้ไว้

 


พิมพ์   อีเมล