หลักในการเดาแซ่
หลักในการเดา "แซ่" |
โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช |
หากลองไปถามคนจีนหรือลูกหลานจีนในเมืองไทยว่า คุณแซ่อะไร ? เชื่อว่าส่วนใหญ่คงตอบได้ เว้นเสียแต่จะเป็นทายาทจีนในเจเนอเรชั่นใหม่ที่ไม่ได้สนใจ หรือจริงจังกับความเป็นจีนอีกต่อไปแล้ว จนอาจจะไม่เคยทราบเลยก็ได้ว่าตนเองแซ่อะไร การใช้แซ่แบบจีนเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งที่ไม่เหมือนกับสากลโลก ซึ่งนิยมใช้นามสกุลมาต่อท้ายชื่อ แต่คนจีนใช้แซ่ ( ซึ่งอาจเป็น 1-2 พยางค์ ) มานำหน้าชื่อตัว ในประวัติศาสตร์จีนโบราณ เวลาคนไม่รู้จักจะแนะนำตัวกัน บางครั้งยังแนะนำแซ่ก่อนที่จะบอกชื่อตัวเสียด้วยซ้ำ เช่น “ ข้าฯ แซ่ “ เตียว ” ชื่อ “ หุย ” คนเมืองเอี้ยน ” ( เตียวหุย น้องร่วมสาบานของเล่าปี่ แนะนำตัวเพื่อท้ารบกับบรรดาสมุนของโจโฉ ) ลักษณะเช่นนี้ บ่งบอกถึงบริบทของสังคมจีนได้เป็นอย่างดี ด้วยวัฒนธรรมจีน เรื่องชาติตระกูลเป็นเรื่องสำคัญ นามสกุลจึงมาก่อนชื่อตัว เวลาแนะนำตัวก็แนะนำชื่อตระกูลก่อน เราจึงได้ยินพ่อแม่จีนสั่งสอนลูกอยู่เสมอว่า อย่าทำอะไรที่เสื่อมเสียถึงวงศ์ตระกูล คนจีนที่โยกย้ายถิ่นฐานไปอยู่ตามที่ต่างๆทั่วโลก นิยมเปลี่ยนแซ่เป็นนามสกุลให้เข้ากับสำเนียงและบริบทของสังคมนั้นๆ เช่นเดียวกับในเมืองไทย คนจีนโพ้นทะเลที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในไทย มีการเปลี่ยนแซ่เป็นนามสกุลมาช้านานแล้ว หลักของการแปลงแซ่มาเป็นนามสกุลของคนจีนในไทย แบ่งได้เป็นหลายลักษณะ แต่ผู้เขียนขอแบ่งออกเป็น 4 วิธีหลักๆ เพื่อให้จำง่าย ดังนี้ • เอาแซ่ในภาษาจีนมา แล้วเติมคำไทยบวกเข้าไป กลายเป็นนามสกุล เช่น แซ่ “ ตัน ” ( หรือแซ่ “ เฉิน ” ในสำเนียงจีนกลาง ) กลายเป็น ตันเจริญ , แซ่ “ ลิ้ม ” (“ หลิน ” ในสำเนียงจีนกลาง ) กลายเป็น ลิ้มทองกุล เป็นต้น จะเห็นได้ว่า ลักษณะเช่นนี้ เดาได้ง่ายมากว่านามสกุลนั้นมาจากแซ่อะไร นอกจากนี้ อาจใช้วิธีสมาส - สนธิ ตามหลักไวยากรณ์ไทย เช่น แซ่ “ แต้ ” (“ เจิ้ง ” ในสำเนียงจีนกลาง ) กลายเป็น เตชะไพบูลย์ , แซ่ “ ซิ้ม ” ( เสิ่น ในสำเนียงจีนกลาง ) กลายเป็น สิมะโรจน์ • แปลงแซ่ให้เป็นความหมายในภาษาไทย แล้วเติมคำไทยบวกเข้าไป เช่น แซ่ “ เบ๊ ” หรือแซ่ “ หม่า ” ในสำเนียงจีนกลาง ซึ่งแปลว่า “ ม้า ” เมื่อ กลายเป็นนามสกุล จึงกลายเป็น ศิลปอาชา หรือพวก “ อัศว ……” ต่างๆ ( อาชา , อัศวะ แปลว่า ม้า ) เป็นต้น • ใช้แซ่มาเรียกเป็นนามสกุล โดยไม่ได้เปลี่ยนแปลงแต่งเติมใดๆทั้งสิ้น เช่น สุทธิชัย หยุ่น ( แซ่ “ หยุ่น ” หรือ “ หลุน ”), แวร์ โซว ( แซ่ “ โซว ” หรือ “ ซู ” ในสำเนียงจีนกลาง ) นอกจากนี้ ยังมีแซ่อื่นๆอีกมากมาย ที่นิยมใช้แทนนามสกุลโดยไม่เปลี่ยนแปลงตามบริบทภาษา เช่น แซ่ตั้ง แซลิ้ม ฯลฯ อันจะพบเห็นได้ทั่วไป แต่นับวันจะมีจำนวนลดน้อยลงเรื่อยๆ เพราะคนจีนในไทยรู้สึกว่าไม่เข้ากับยุคสมัย จึงนิยมตั้งนามสกุลใหม่เป็นภาษาไทย เช่น ประพัฒน์ แซ่ฉั่ว เปลี่ยนเป็น ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ แต่ในทางตรงข้าม คนจีนที่อนุรักษ์นิยมบางคนยังภูมิใจที่จะใช้แซ่ในลักษณะนี้ต่อไปโดยไม่เปลี่ยนเป็นนามสกุลภาษาไทย เพราะต้องการแสดงออกถึงความเป็นจีนของตนอย่างเต็มที่ • ตั้งนามสกุลขึ้นใหม่ โดยไม่ได้อิงกับแซ่เดิมเลย เช่น นามสกุล “ ดำรงชัยธรรม ” ของ “ อากู๋ ” ไพบูลย์ แห่งค่ายแกรมมี่ มาจากแซ่ “ อึ้ง ” (“ หวง ” ในสำเนียงจีนกลาง ) ซึ่งแปลว่า “ สีเหลือง ” จะเห็นได้ว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับชื่อสกุลในภาษาไทยแต่อย่างใดทั้งสิ้น หรือนามสกุล “ ศรีเมือง ” ของพลตรีจำลอง มาจากแซ่ “ โล้ว ” (“ หลู ” ในสำเนียงจีนกลาง ) ซึ่งความหมายไม่เกี่ยวข้องกันแม้แต่น้อย
สำหรับคนจีนที่โยกย้ายถิ่นฐานไปอาศัยยังประเทศต่างๆทั่วโลก ก็จำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนชื่อแซ่ของตนให้เข้ากับบริบททางวัฒนธรรมของชาตินั้นๆ หรือบางทีตัวเองอยู่เมืองจีนแท้ๆ ยังต้องเติมชื่อฝรั่งให้คนเรียกได้ง่ายๆ เห็นได้จากดาราเอเชียหลายคนที่โกอินเตอร์กลายเป็นดาราฮอลลีวู้ด ตัวอย่างเช่น หลี่เหลียนเจี๋ย ดารานักบู๊ชื่อดังที่ปัจจุบันย้ายไปพำนักอยู่อเมริกา เดี๋ยวนี้แทบไม่มีใครรู้จักชื่อเดิมอีกต่อไปแล้ว เพราะทั่วโลกเรียกเขาว่า “ เจ็ต ลี ” ( เติมชื่อฝรั่งไปข้างหน้า แล้วเอาแซ่โยกไปไว้ข้างหลังตามฮอลลีวู้ดนิยม ) เช่นเดียวกับ สตีเฟ่น โจว ( โจวซิงฉือ ), แมกกี้ จาง ( จางมั่นอวี้ ), แจ๊คกี้ ชาน ( เฉิน หลง ), แอนดี้ หลิว ( หลิว เต๋อ หัว ), โทนี่ จา ( จา พนม ยีรัมย์ ) และอื่นๆอีกมากมายนับไม่ถ้วน แม้กระนั้น จะมีคนจีนในประเทศไหนอีกเล่า ที่เปลี่ยนแซ่มาเป็นนามสกุลได้มีเสน่ห์เท่ากับคนจีนในไทย เพราะหลายๆนามสกุลยังแฝงไว้ด้วยความหมายดีๆ ผมคงทิ้งท้ายไว้เท่านี้ เพราะอยากให้ท่านผู้อ่านไปคิดต่อเองว่า นามสกุลของคนใกล้ชิด ตลอดจนคนดังๆที่เป็นที่รู้จักกันในสังคมนั้น มาจากแซ่อะไร ? และมีความหมายว่ากระไรบ้าง ? ลองนึกดูสนุกๆนะครับ เพลินดีเหมือนกัน
|