บูรพคณาจารย์
“ บูรพคณาจารย์ ” ผู้ร่วมสานสัมพันธ์ไทย - จีน |
โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช |
ตั้งแต่หันมาศึกษาเรื่องความสัมพันธ์ไทย - จีนอย่างจริงจัง ผมระลึกเสมอว่าตนเองเป็นคนโชคดี ที่ได้รู้จักและศึกษาวิชาความรู้จากอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ไทย - จีนหลายท่าน คณาจารย์ทั้งหลายเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่ทรงความรู้ในด้านความสัมพันธ์ไทย - จีนอย่างลึกซึ้ง หลายท่านศึกษาและมีส่วนร่วมในความสัมพันธ์ไทย - จีนมาตั้งแต่ยุคกำเนิดความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อ 30 ปีที่แล้วเลยทีเดียว ตัวอย่างเช่น รศ . วิภา อุตมฉันท์ รองผู้อำนวยการฝ่ายโครงการพิเศษ สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ ซึ่งผมเป็นลูกศิษย์ก้นกุฏิของท่านตั้งแต่เมื่อครั้งยังศึกษาอยู่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย อาจารย์วิภาเป็นผู้ชักชวนผมมาทำวิจัยและเป็นผู้จุดประกายให้ผมหันมาสนใจเรื่องความสัมพันธ์ไทย - จีนอย่างจริงจัง อาจารย์วิภาทำวิจัยและเขียนหนังสือเกี่ยวกับไทย - จีนมาแล้วมากมาย ปัจจุบันท่านประจำอยู่ที่สถานีวิทยุปักกิ่ง และเดินทางไป - มาระหว่างไทย - จีนปีละหลายหน โดยบอกเล่าเรื่องราวประสบการณ์จากเมืองจีนลงในคอลัมน์ประจำในนิตยสาร มติชนสุดสัปดาห์ ด้วย อาจารย์อีกท่านที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดี คือ รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ ผมได้รู้จักอาจารย์สมภพตอนไปนั่งทำวิจัยอยู่ที่ศูนย์จีนศึกษา อาจารย์สมภพเป็นผู้รอบรู้ในเรื่องจีนศึกษา และด้วยความที่เป็นนักเศรษฐศาสตร์ จึงวิเคราะห์เศรษฐกิจจีนได้อย่างแหลมคมด้วยสายตาของผู้รู้จริง ที่สำคัญ อาจารย์เป็นคนน่ารัก ไม่ถือตัว สันโดษ ไม่ชอบทำตัวเป็นข่าว เป็นข้อดีของอาจารย์ที่ยิ่งทำให้น่านับถือมากขึ้น อีกท่านหนึ่ง ที่แม้ไม่ใช่คนไทย แต่ได้รับการยอมรับจากคนในแวดวงวิชาการไทยว่าเป็น “ ของจริง ” ในเรื่องความสัมพันธ์ไทย - จีน นั่นคือ อาจารย์เจี่ย แยน จอง บุรุษชาวจีนร่างเล็ก เลือดจีนแท้ๆ แต่พูดภาษาไทยได้ชัดกว่าคนไทย เขียนตำรับตำราวิชาการเกี่ยวกับความสัมพันธ์ไทย - จีนและมีลูกศิษย์ลูกหาเป็นคนไทยมากมาย ผมได้รู้จักอาจารย์เจี่ยตอนเดินทางไปทำวิจัยที่คุนหมิง และได้รับความเมตตาดูแลเอาใจใส่จากอาจารย์เป็นอย่างดี ยังจดจำพระคุณนั้นไว้จนถึงทุกวันนี้ ปัจจุบันอาจารย์เจี่ยพำนักอยู่ที่คุนหมิง แต่ยังคอยช่วยเหลือเป็นที่ปรึกษาให้แก่อาจารย์และนักวิจัยรุ่นหลังๆอยู่เสมอ ท่านสุดท้ายที่ขอกล่าวถึง ผู้เป็นที่นับหน้าถือตา เป็นที่รู้จักและยอมรับ ว่าเป็น “ ปรมาจารย์ ” ด้าน “ ความสัมพันธ์ไทย - จีน ” อย่างแท้จริง เป็นต้นตำรับ ของแท้และดั้งเดิม เป็นคนแรกๆที่ริเริ่มศึกษาวิจัยด้านความสัมพันธ์ 2 แผ่นดินตั้งแต่เมื่อหลายสิบปีที่แล้ว จะเป็นใครไปไม่ได้ นอกจาก ศ.ดร.เขียน ธีระวิทย์ อดีตผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ ความเป็นหนึ่งในด้านความสัมพันธ์ไทย - จีนของอาจารย์เขียน หากจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดๆก็ต้องบอกว่า เปรียบได้กับ “ คุณหญิงหมอพรทิพย์ ” ในวงการนิติวิทยาศาสตร์ดีๆนี่เอง ครั้งแรกที่ผมได้พบอาจารย์เขียน เป็นวันที่ผมต้องขึ้นแถลงผลงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องราวของ “ ทัวร์ศูนย์เหรียญ ” มะเร็งร้ายที่กำลังบ่อนทำลายความสัมพันธ์ไทย - จีนไปเรื่อยๆ จำได้ว่าในขณะที่มีตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆรวมทั้งหน่วยงานของรัฐเข้ามารับฟังกันมากมาย ผมเองด้วยความที่เป็นผู้ลงไปคลุกเคล้ากับข้อมูลด้วยตนเอง จึงพูดจาตรงไปตรงมาเกินไปหน่อย หากจะเรียกว่า “ พูดความจริงมากไป ” ก็ว่าได้ จนผู้ใหญ่ที่ร่วมทำวิจัยด้วยกันต้องออกตัวว่า สิ่งที่ผมพูดจะไม่ปรากฏอยู่ในงานวิจัย ทั้งนี้เพื่อไม่ให้อุณหภูมิในที่ประชุมแห่งนั้นตึงเครียดมากไปกว่าที่เป็นอยู่ ทว่าอาจารย์เขียน กลับลุกขึ้นพูดต่อหน้าผู้เข้าร่วมประชุมเกือบ 50 คนว่า คำพูดของ ชัชวนันท์ ควรจะได้รับการบันทึกลงในงานวิจัย เพื่อให้ข้อมูลด้านมืดเหล่านี้เป็นที่รับรู้ของสังคมภายนอก และในเมื่อข้อมูลเหล่านี้เป็นความจริงก็ไม่จำเป็นต้องกลัว เพราะถูกฟ้องที่ไหนก็ชนะที่นั่นอย่างแน่นอน เหตุการณ์ครั้งนั้น ทำให้ผมซาบซึ้งในความเป็น “ คนตรง ” และ “ คนจริง ” ของอาจารย์เขียนเป็นอย่างมาก ในแวดวงการศึกษาด้านความสัมพันธ์ไทย - จีน มีบุคลากรผู้ทรงคุณค่าอยู่มากมาย อาจารย์ทุกท่านที่ได้กล่าวมา และหลายท่านที่ไม่อาจกล่าวถึงในที่นี้ได้หมด เป็น “ บูรพคณาจารย์ ” ของสังคมไทย ผู้อยู่เบื้องหลังความสัมพันธ์อันดีของทั้ง 2 ชาติ ศิษย์ขอคารวะอาจารย์ทุกท่าน !!
|